U-Review

เปิดประตูไขความลับสู่การโบยบินบนท้องฟ้า จากรุ่นพี่สาขาการจัดการธุรกิจการบิน : U-Showcase

     ‘โตขึ้นผมอยากเป็นนักบิน หนูอยากเป็นแอร์โฮสเตส’ นี่อาจจะเป็นความใฝ่ฝันของน้องหลายๆ คนที่ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของการนำผู้โดยสารโบยบินบนท้องฟ้าไปยังจุดหมายอย่างปลอดภัยแต่ที่จริงแล้วยังมีอีกหลายหน้าที่ ที่จำเป็นต่อการจะนำเครื่องบินสักลำแล่นขึ้นจากรันเวย์ บินไปบนฟ้าและส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายได้อย่างปลอดภัย เราต้องมีคนคอยให้บริการผู้โดยสารที่ภาคพื้นดิน เราต้องมีเจ้าหน้าที่ดูแลสัมภาระ เราต้องมีคนที่คอยให้คำแนะนำนักบินจากหอบังคับการบิน เราต้องมีผู้ที่คอยวางแผนเส้นทางการบิน และเราต้องมีช่างซ่อมบำรุงเครื่องบิน ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าหากขาดใครคนใดคนหนึ่งเหล่านี้ไป เครื่องบินจะไม่สามารถขึ้นบินอย่างปลอดภัยได้เลย ทุก ๆ หน้าที่ต่างมีความสำคัญไม่แพ้กัน

      หากน้อง ๆ มีใจรักในสายงานด้านธุรกิจการบิน ก็ต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานด้านนี้ เพราะฉะนั้นวันนี้พี่ ๆ
Admission Premium จะพาน้อง ๆ ไปไขความลับสู่การโบยบินบนท้องฟ้ากับพี่แฮริส ปริญญา นภากร รุ่นพี่จากสาขาการจัดการธุรกิจการบิน คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด



 
ทำไมถึงเลือกเรียนธุรกิจการบินที่แสตมฟอร์ด

     พี่เป็นคนที่ชอบภาษาอังกฤษอยู่แล้วตั้งแต่ม.ปลาย เลยมองหามหาวิทยาลัยที่มีภาคอินเตอร์ ก็ดูไว้หลายที่ จนมาเจอมหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด เพราะพี่เคยเข้ามาที่มหาวิทยาลัยแล้ว  พี่จบมาจากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ ซึ่งโรงเรียนจะอยู่ใกล้กับแสตมฟอร์ด หลังเลิกเรียนพี่ก็จะเดินเข้าไปในมหาวิทยาลัย ไปดูว่าตรงไหน คณะไหนที่เป็นตัวเราที่สุด พี่รู้สึกว่าที่แสตมฟอร์ด พี่เป็นตัวของตัวเองที่สุด ก็เลยเลือกที่จะเรียนที่นี่  และอีกหนึ่งเหตุผลก็คือเมื่อเข้ามาในมหาวิทยาลัย เหมือนเราหลุดเข้าไปอยู่อีกโลกหนึ่งไปเลย เหมือนไม่ใช่ในประเทศไทย เป็นสังคมใหม่สำหรับตัวเรา เหมือนเราได้ไปเรียนอยู่ที่ต่างประเทศ



 
ปรับตัว เตรียมใจ สู่รั้วมหาวิทยาลัย

     ตอนแรกพี่ต้องเรียนปรับภาษาประมาณ 3 เดือน เพราะพี่ค่อนข้างอ่อนด้านการพูดกับการฟัง เข้ามา ปี 1 ก็ต้องเรียนวิชา Business ก่อน พี่ค่อนข้างที่จะปรับตัวยาก เพราะการเรียนการสอนไม่เหมือนกับตอนที่เราเรียน ม.ปลาย คือ ต้องมีความรับผิดชอบสูงมาก ไม่มีคนมาคอยผลักดันตลอดเวลา เราต้องโตขึ้น  ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองหลาย ๆ อย่าง
แต่เราก็ได้พัฒนาความสามารถด้านภาษามากขึ้นเพราะมีเพื่อนชาวต่างชาติค่อนข้างเยอะ
 
ยากไหมกับการที่ต้องมาเรียนหลักสูตรที่เป็นอินเตอร์สำหรับเด็กที่ไม่เก่งภาษา

      ตอนแรกก็ค่อนข้างยาก แต่เมื่อเรียนไปได้ประมาณ  2 - 3 เทอม ก็เริ่มรู้สึกปรับตัวได้ ทุกอย่างเริ่มเข้าที่มากขึ้น แล้วภาษาก็มีผลต่อการสอบพอสมควร มันเลยเป็นแรงผลักดันให้เราต้องพัฒนาทักษะด้านภาษา พี่คิดกับตัวเองว่าเพื่อนพูดได้ทำได้ เราก็ต้อง
ทำให้ได้เหมือนกัน


ภาพรวมการเรียนตั้งแต่ปี 1 ถึงปี 3

      ตอนปี 1 มีวิชา Airline ที่เป็นวิชา ABM 201 ที่เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับการบินว่ามีอะไรบ้างแต่ไม่ได้ลงลึก เป็นวิชาพื้นฐาน ส่วนในปีถัด ๆ ไปก็จะเริ่มลงลึกวิชาที่เป็น  Airline  มากขึ้น วิชาที่เกี่ยวกับการสื่อสารทางด้านการบิน และวิชาเกี่ยวกับ Aircraft 

      ในช่วงปี 2 ถ้าใครสนใจอยากจะเป็นนักบินในอนาคตก็จะมีคอร์ส ที่เป็นการขับเครื่องบินแบบจริง คือเรียนแบบ  Ground School  มีการเรียนขับเครื่องบินที่สนามบิน อยากจะบอกว่าแสตมฟอร์ดได้เซ็นสัญญาร่วมกับสถาบันสอนขับเครื่องบินเบาพิเศษ (The Light Aircraft for Leisure Association Flying Club (LAAF)) เราจะได้เรียนกับนักบินมืออาชีพที่ชำนาญด้านการบิน แล้วก็จะได้ใบอนุญาตนักบินอากาศยานเบาพิเศษหลังจบหลักสูตรอีกด้วย

      ส่วนปี 3 ค่อนข้างที่จะเรียนหนักพอสมควร เน้นวิชาด้านการบริหาร พวกวิชาการจัดการความเสี่ยง แล้วก็วิชาประกันคุณภาพของ Airline การวัดคุณภาพ ISO เหมือนเป็นการวัดคุณภาพองค์กร
 

ธุรกิจการบินที่แสตมฟอร์ด ต่างจากที่อื่นยังไง

      อย่างแรกเลยก็คือ การบิน เป็นเรื่องที่มาคู่กับภาษา ต้องทำงานร่วมกับคนจากทั่วทุกมุมโลกอยู่แล้ว มันเชื่อมกันด้วยภาษา พี่คิดว่าสิ่งที่เป็นจุดเด่นของแสตมฟอร์ดก็คือเรื่องของภาษา และอาจารย์ผู้สอนก็มีประสบการณ์ตรงจากภาคอุตสาหกรรม เราได้เรียนรู้จากคนที่มีประสบการณ์การทำงานจริง ๆ ซึ่งเทอมนี้วิชา In-Flight Management มีอาจารย์มาจากออสเตรเลีย พี่คิดว่าการได้เรียนรู้จากผู้ที่มีประสบการณ์ตรง ก็จะสามารถถ่ายทอดออกมาได้ดีกว่า และสามารถอธิบายได้ชัดเจนและเห็นภาพจริง ๆ


 
แนะนำน้องๆที่จะเข้าเรียนสาขานี้ในภาคอินเตอร์


      พี่ว่าภาษาเป็นปัจจัยหลักในการทำงานในอุตสาหกรรมการบิน ไม่ว่าเราจะอยู่ประเทศไหน ทำงานอะไร สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ทักษะทางด้านภาษาอังกฤษเพื่อใช้ในการสื่อสาร สำหรับนักบินเอง ก็ต้องใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร เพราะเราไม่ได้ติดต่อแค่ในประเทศเท่านั้น แต่เราติดต่อกับคนทั่วโลก และพี่คิดว่ามันสำคัญมาก ๆ ที่เราเลือกเรียนการบินและเรียนภาษาอังกฤษควบคู่กันไปด้วย หากเรามีความรู้ด้านการบินแต่ไม่รู้ภาษาอังกฤษ ก็อาจจะทำงานไม่ได้ เพราะทุกอย่างมันเป็นภาษาอังกฤษหมดเลย
 
ประสบการณ์ part time

       พี่เป็นแฟนคลับเพจพี่ช้าง (Chang Trixget)  ซึ่งพี่เป็นคนที่ชื่นชอบการท่องเที่ยวอยู่แล้ว และชื่นชอบการดูโปรโมชั่นของสายการบิน แล้วประกอบกับที่เขาเปิดรับสมัคร พี่ก็เลยเข้าไปสัมภาษณ์ แล้วก็ได้ร่วมงานกับเขา การทำงานในครั้งนี้ถือว่าพี่ได้นำความรู้ที่ได้เรียนในมหาวิทยาลัยไปใช้ในการทำงาน เช่นวิชา Airline Business Management ที่เรียนตอนปี 1จะมีการจำโค้ดสนามบิน โค้ดประเทศ เช่น ประเทศไทยมี 2 สนามบิน  คือ สนามบินสุวรรณภูมิ จะเป็น BKK ส่วนสนามบินดอนเมืองเป็น DMK เวลาเราไปทำงานกับเพจพี่ช้าง เราก็จะทำงานได้อย่างราบรื่น เพราะเวลาเราคุยกันในบริษัทก็จะใช้เป็นตัวย่อในการพูดคุย เพื่อความเข้าใจและประหยัดเวลา
 

การฝึกงาน

       มีงาน Job fair มาจัดงานที่มหาวิทยาลัย พี่ก็ลองไปสมัครดู แล้วก็ไปสัมภาษณ์  ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเข้าฝึกงาน ตอนนี้พี่ได้ที่ฝึกงานในตำแหน่ง Flight Dispatcher
 อยู่ที่ Bangkok Flight Services ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ถ้าเรียกเป็นภาษาไทยจะเรียกตำแหน่งนี้ว่า นักบินนั่งโต๊ะ หรือพนักงานอำนวยการบิน คือก่อนที่จะขึ้นบินก็จะต้องมีการสรุปรายละเอียดของงาน มีนักบินหลาย ๆ คนเข้ามาคุยกันว่าเราจะไปเส้นทางไหน เพื่อที่จะประหยัดค่าใช้จ่ายให้สายการบิน สภาพอากาศตลอดการเดินทางมีอะไรบ้างที่เราต้องระวัง Flight Dispatcher ต้องแจ้งนักบินไป ตัวเรากับนักบินก็ต้องมาปรึกษากันว่าควรไปเส้นทางไหนถึงจะปลอดภัยที่สุดแล้วก็ประหยัดค่าใช้จ่าย ซึ่งพี่ว่าตำแหน่งนี้คนยังไม่ค่อยรู้จัก

 

จุดเด่นของการเรียนขับครื่องบินเบาพิเศษที่แสตมฟอร์ด

     เรียกง่าย ๆ คือ เครื่องบินลำเล็ก ระยะเวลาในการเรียนค่อนข้างสั้น มันไม่ได้ใช้เวลาเรียนนานเหมือนกับ Licence CPL คือเราเรียนเรื่องพื้นฐาน เครื่องบินบินอย่างไร ขึ้นอย่างไร เราก็สามารถขับเครื่องบินได้ การเรียน Ground School เราก็เรียนเรื่องเกี่ยวกับการบิน เกี่ยวกับสภาพอากาศ เกี่ยวกับทุกอย่างที่จำเป็นต้องใช้ในการบิน จุดเด่นอันแรกคือ เรื่องค่าใช้จ่ายค่อนข้างที่จะไม่ได้สูงมาก เมื่อเราไปเทียบกับตัว CPL (CPL ย่อมาจาก Commercial Pilot Licence ใบอนุญาตนักบินพาณิชย์ตรี)

     การเรียนขับเครื่องบินที่แสตมฟอร์ด ทำให้เรารู้ว่าเราเหมาะหรือเปล่า แต่ถ้าเราเรียนไปแล้วไม่ใช่ตัวเราก็ถอย อย่างน้อยเราก็ได้มีไอเดียทำสิ่งอื่น ๆ ยังมีความรู้ติดตัว จุดเด่นอีกอันหนึ่งคือ เราเรียนจบแล้วเราไม่ได้ทำงานเป็นนักบินได้อย่างเดียว เรายังสามารถทำงานอื่นได้ เช่น สามารถเป็น 
Flight Dispatcher ก็ได้ เพราะทุกครั้งที่เราขึ้นบิน เราก็ต้องติดต่อกับ เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (Air Traffic Controller : ATC) เราต้องทำอะไรเองหมดทุกอย่าง ถ้าเราไม่อยากเป็นนักบิน เราก็มานั่งทำภาคพื้นดินก็ได้ ซึ่งก็เป็นความท้าทายและเป็นอาชีพที่คนไม่ค่อยทำ
 

โอกาสที่เด็กไทยที่จบจากธุรกิจการบินหรือเกี่ยวกับการบินจะได้ทำงาน

     พี่มองว่าเด็กไทยได้เปรียบกว่าคนอื่น เพราะด้วยวัฒนธรรมของคนไทยคือเป็นคนที่ค่อนข้างอ่อนน้อมถ่อมตน มีความเป็นมิตร ยิ้มแย้มแจ่มใส พี่มองว่าอนาคตสำหรับคนไทยกับงานสายการบินยังไปได้อีกไกล แต่อย่างที่บอกที่สำคัญคือเรื่องภาษา ถ้าเด็กไทยเก่งภาษาพี่ว่าประเทศไทยจะเป็นแหล่งผลิตบุคลากรชั้นดีเลย




ข้อมูลเพิ่มเติม

     - คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี สาขาการจัดการธุรกิจการบิน

     - เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

สาขาวิชาการบริการลูกค้า คณะวิทยาการจัดการ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต

การบริการลูกค้าในปัจจุบันมีบทบาทสำคัญในการเพิ่มคุณค่าทางธุรกิจรวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งระดับจุลภาคและมหภาค ...

แพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี สาขาความผิดปกติของการสื่อความหมาย มหาวิทยาลัยมหิดล

ที่นี่เปิดสอนศาสตร์ที่ว่าด้วยเรื่องของ "การแก้ไขความผิดปกติของการสื่อความหมาย" ...

MASTER OF BUSINESS ADMINISTRATION (INTERNATIONAL PROGRAM) มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์

"Triple Value interMBA: business knowledge, professional ...