U-Review

เผยประสบการณ์สู่โลกแห่งการขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้า จากรุ่นพี่สาขาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน : U-Showcase

           ‘สายงานทางด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน’ ในช่วงหลาย ๆ ปีที่ผ่านมา ดูเหมือนว่าอาชีพทางด้านนี้จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานเป็นอย่างมาก ซึ่งนักศึกษาจบใหม่เองก็เลือกที่จะทำอาชีพทางสายด้านนี้เป็นอันดับต้น ๆ รองจากสายงานบัญชี นั้นเป็นเพราะทุกวันนี้สายงานด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในโลกของการทำธุรกิจ และเป็นระบบที่ถูกนำมาปรับใช้ในหลาย ๆ ธุรกิจ โดยมีหัวใจสำคัญอยู่ที่การขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าไปยังจุดหมายด้วยวิธีการและระบบที่ดีที่สุด 

            งานโลจิสติกส์เป็นงานที่มาพร้อมกับการเติบโตของธุรกิจ น้องๆ ที่สนใจงานด้านโลจิสติกส์จึงต้องเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการทำงานด้านนี้ ดังนั้นวันนี้เราจะพาน้อง ๆ ไปเปิดประสบการณ์สู่โลกแห่งการขนส่งเคลื่อนย้ายสินค้าไปกับพี่ตุล ปิยพนธ์  ปิยะธีรธิติวรกุล รุ่นพี่จาก สาขาบริหารธุรกิจ กลุ่มวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน (LOGISTICS AND SUPPLY CHAIN MANAGEMENT) มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด
 
ทำไมถึงเลือกเรียนสาขาโลจิสติกส์ ที่มหาวิทยาลัยแสตมฟอร์ด

     พี่เคยทำกิจกรรมงานครบรอบของโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย ได้ดูแลในส่วนของร้านขายน้ำ พี่ต้องจัดซื้อน้ำเพื่อมาจำหน่าย หลังจากนั้นพี่ก็สนใจในเรื่องของโลจิสติกส์มากขึ้น เลยตัดสินใจที่จะเรียนโลจิสติกส์ แล้วที่แสตมฟอร์ดมีภาคอินเตอร์ก็เลยสนใจเป็นพิเศษ




     พี่มองว่าธุรกิจจำเป็นที่จะต้องมี โลจิสติกส์มันไม่ได้แค่แปลว่าการขนส่ง มันมีในส่วนของซัพพลายเชน เราต้องจัดการตั้งแต่เป็นวัตถุดิบ ผลิต กระจายสินค้า จนไปถึงมือของลูกค้า แต่กระบวนการไม่ได้จบแค่นั้น สมมุติว่าถ้าสินค้าไปถึงลูกค้าแล้วมีปัญหา แล้วก็ต้องเรียกคืนหรือเอากลับคืนมาอีก เหมือนเอาของที่เสียกลับเข้ามา เราก็ต้องวางแผนว่าจะจัดการกับมันยังไง



     งานด้านโลจิสติกส์ไม่ได้เป็นงานที่ทำแค่ในประเทศ เราต้องติดต่อกับบริษัทจากต่างประเทศ ต้องซื้อและขายกับบริษัทต่างประเทศ ต้องส่งของไปต่างประเทศ เพราะฉะนั้นภาษาเป็นเรื่องสำคัญ พี่ว่ามีไม่กี่มหาวิทยาลัยที่จะเปิดเป็นหลักสูตรอินเตอร์ อาจารย์ผู้สอนเป็นผู้ที่มีประสบการณ์การทำงานมานาน สิ่งที่เรียนในคลาส พี่ไม่ได้เรียนจากในตําราเพียงอย่างเดียวแต่ยังเรียนรู้จากประสบการณ์การทำงานของอาจารย์ พี่ได้เรียนจากกรณีศึกษา (Case Study) จริง และทางสาขายังเปิดโอกาสให้นักศึกษาไปสัมผัสการทำงานจริง ๆ ด้วยการไปศึกษาดูงานที่บริษัทชั้นนำมากมาย

เทคนิคการค้นหาตัวเอง

     เทคนิคที่พี่แนะนำก็คือการไปงาน Open House ของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ได้ไปเจอ ไปคุยกับพี่ ๆ ว่ามันเป็นยังไง แล้วก็ไปพวกงานสัมมนาต่างๆ เกี่ยวกับธุรกิจโลจิสติกส์ เพราะนอกจากเราจะได้ความรู้เกี่ยวกับด้านโลจิสติกส์แล้ว ก็ยังได้พบปะกับคนที่มีประสบการณ์ตรงในการทำงานด้านนี้ เพราะเขาสามารถบอกได้มากกว่าในสิ่งที่เรียนในมหาวิทยาลัย




แชร์ประสบการณ์ในห้องเรียนกันหน่อย

     พี่เรียนประมาณ 3 ปีครึ่ง ปีแรกก็จะเรียนเป็นพวกวิชาพื้นฐานเกี่ยวกับพวกบริหาร พวกธุรกิจ โครงสร้างขององค์กรว่าเป็นอย่างไร มีอะไรบ้าง แล้วก็มีพวกการตลาด ไฟแนนซ์ แล้วก็บัญชี เป็นการปูพื้นฐานในเชิงธุรกิจก่อน พอเข้าเทอม 2 เทอม 3 ก็จะเป็นด้านโลจิสติกส์มากขึ้น ส่วนโลจิสติกส์ก็จะเริ่มเรียนจากส่วนที่เป็นพื้นฐาน มองภาพรวมก่อนว่าโลจิสติกส์เป็นอะไรอย่างไร แล้วก็เรียน Procurement and Sourcing Management เป็นวิชาเกี่ยวกับการจัดซื้อ วิชา International Logistics  ก็เป็นวิชาเกี่ยวกับตัวเอกสาร เวลาเราส่งสินค้าไม่ว่าจะเป็นทั้งทางเรือ หรือทางเครื่องบิน เราก็ต้องทำเอกสาร วิชา Retail Logistics  เป็นวิชาค้าปลีก ยกตัวอย่างเวลาสินค้าไปถึงพ่อค้าปลีก เช่น โลตัสจะมีวิธีการจัดการจำแนกสินค้าเรายังไง แล้วก็มีวิชา Warehousing  and Material Handling  Management ก็คือการจัดการพื้นที่ในโกดัง ก็คำนวณสินค้าอย่างไร เราจะสั่งซื้อสินค้าเมื่อไหร่ เราต้องคำนวณประมาณนี้

การฝึกประสบการณ์วิชาชีพ

     ส่วนใหญ่เพื่อน ๆ ที่เรียนโลจิสติกส์ก็จะออกไปหางานเองเป็นส่วนใหญ่ ไม่มีใครมีปัญหาเรื่องการหาที่ทำงาน สำหรับตัวพี่ ใช้วิธีการยื่น resume เข้าไป ก็รอเขาเรียกเข้าไปสัมภาษณ์ไม่เกิน 10 วันก็ได้งาน

วิชาที่ชอบในรั้วมหาวิทยาลัย

     ถ้าเกิดพูดถึงวิชาที่ชอบ ต้องเป็นวิชา Strategic  Planning พี่รู้สึกว่าวิชานี้มันทำให้เราเห็นว่าทุกอย่างที่เราเรียนมาทั้งหมดสามารถนำมาใช้ได้จริง ตั้งแต่คุยกับบริษัทที่จะจัดส่งสินค้าให้เราคุยเรื่องใบเสนอราคา ทำการจองพื้นที่เรือเหลือที่ว่าง คำนวณว่าวันเวลาเราจะจัดส่งไว้ที่สิงคโปร์จะใช้เวลาประมาณกี่วัน
 
อยากเรียนสาขาโลจิสติกส์ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้าง 

     สิ่งสำคัญคือ เราอยากเรียนอะไรเราก็ต้องชอบมันก่อน เราต้องศึกษาว่าคณะเป็นอะไรยังไง มันใช่ตัวเราไหม ก็อย่างที่บอกไปการที่เราจะรู้ว่าเราชอบอะไรไม่ชอบอะไร เราก็ต้องไปเจอคนที่เขามีประสบการณ์การทำงานในด้านนั้น ๆ เมื่อเรารู้ตัวว่าเราเรียนอะไรได้หรือชอบอะไร พี่เชื่อว่าก็คงไม่มีอะไรยากเกินไป

ไม่มีพื้นฐานภาษาอังกฤษ เรียนหลักสูตรนานาชาติได้หรือเปล่า

     เรื่องภาษาโดยส่วนตัวพี่คิดว่าไม่น่าจะมีปัญหา เพราะมีการปรับพื้นฐานอยู่แล้ว สำหรับน้อง ๆ ที่ไม่ได้ภาษาเลย ถ้าผ่านการปรับพื้นฐานมาพี่เชื่อว่าสามารถเรียนได้ ส่วนตัวพี่เองพี่ก็โดนปรับพื้นฐานมาเหมือนกัน ก็สามารถสื่อสารกับชาวต่างชาติได้




แชร์เทคนิคการเรียนให้ได้เกียรตินิยม

     อย่างแรกเลยก็คือ อย่ากลัวที่จะถามคำถามกับอาจารย์ ถ้าเราไม่เข้าใจอะไรเราต้องตั้งคำถามกับอาจารย์เลย ดีกว่าที่เราจะไม่รู้สิ่งนั้นตลอดไป แล้วก็อย่าหยุดอยู่กับที่ ต้องหาความรู้ใหม่ๆ ตลอดเวลา ทุกวันนี้เรามีทุกอย่างใกล้ตัวทั้งอินเทอร์เน็ต และสมาร์ทโฟนต่างๆ เราอยากรู้อะไรเราก็สามารถค้นหาได้ทันที อย่าปิดกั้นตัวเองว่าเราไม่รู้ ไม่ถาม ไม่หาเพิ่ม เราต้องขวนขวาย
 และตั้งใจ แล้วก็อย่าคิดว่าตัวเองทำไม่ได้ เพราะถ้าคนอื่นทำได้ เราก็ต้องทำได้เหมือนกัน


อาชีพหลังเรียนจบ

     น้อง ๆ สามารถทำงานได้ทั้งภาครัฐบาล และเอกชน รวมไปถึงการประกอบธุรกิจส่วนตัวได้ เช่น ฝ่ายบริหารด้านการจัดการโลจิสติกส์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ฝ่ายบริหารด้านการจัดการซัพพลายเชนทั้งในประเทศและต่างประเทศ ผู้จัดการฝ่ายขายในบริษัท/ตัวแทนการขนส่งทางสายเรือและทางอากาศ ผู้ให้บริการด้านการขนส่งทางอากาศและทางทะเล ผู้ให้คำปรึกษาด้านโลจิสติกส์และซัพพลายเชน เป็นต้น




ข้อมูลเพิ่มเติม

     - คณะบริหารธุรกิจและเทคโนโลยี สาขาบริหารธุรกิจ กลุ่มวิชาการจัดการโลจิสติกส์และซัพพลายเชน 

     - เว็บไซต์ มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กลุ่มสาขาวิชาทางการออกแบบ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ในกลุ่มสาขาวิชาทางการออกแบบนั้น จะมีสาขาวิชาด้านการออกแบบให้น้องๆ ...

นิเทศศาสตรบัณฑิต (การสื่อสารการตลาด) มหาวิทยาลัยฟาร์อีสเทอร์น

เป็นการนำศาสตร์ต่างๆ ด้านการตลาดมาผสมผสานอย่างลงตัวกับศาสตร์เทคโนโลยีและศิลป์ของการสื่อสาร ...

คณะเทคโนโลยีอุตสาหกรรม กลุ่มสาขาวิชาทางเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา

ในช่วงแรกนักศึกษาจะเรียนวิชาที่เป็นวิชาพื้นฐานทางด้านการคำนวณ ...