U-Review

​ดร. ดวงแข บุตรกูล นักวิจัย มศว เพิ่มมูลค่าอัญมณี ด้วยเทคโนโลยีเครื่องไอออน แห่งแรกของโลก

        ดร.ดวงแข บุตรกูล และคณะนักวิจัยของมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เจ้าของงานวิจัยที่สร้างความตื่นตัวแก่วงการอุตสาหกรรมการค้าและการส่งออกของตลาดอัญมณีไทยรวมทั้งแวดวงวิชาการ เรื่อง การพัฒนาคุณภาพอัญมณีโดยเทคโนโลยีเครื่องเร่งลำอนุภาค โดยการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ซึ่งล่าสุดได้รับการคัดเลือกให้จัดแสดงเผยแพร่ภายในนิทรรศการงานแถลงผลงานครบรอบ 1 ปีของคณะรัฐบาล ซึ่งได้รับความสนใจเยี่ยมชมและให้กำลังใจจากพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีตลอดจนนักวิจัย นักวิชาการ กลุ่มผู้ค้าผู้ประกอบการ ตลอดวันที่ 23-25 ธันวาคม 2558 ณ ทำเนียบรัฐบาล 

       ดร.ดวงแข อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทั่วไป สาขาวิชาอัญมณีและเครื่องประดับ คณะวิทยาศาสตร์ มศว นักวิจัยเจ้าของผลงาน เปิดเผยว่า “งานวิจัยนี้ศึกษาเกี่ยวกับการปรับปรุงคุณภาพพลอยตระกูลคอรันดัม โดยใช้เครื่องเร่งลำไอออน เป็นการอาศัยพลังงานจากกลไกการพุ่งชนของไอออนที่กำหนดเข้าไปกระตุ้นโดยปราศจากความร้อนสูง ทำให้เพิ่มความใสสะอาดและสามารถเพิ่มหรือลดสีของพลอยได้ตามที่ตลาดต้องการ โดยไม่มีการทำลายโครงสร้างหรือผิวพลอย งานวิจัยนี้นอกจากจะเป็นการศึกษาในแง่วิชาการที่เกี่ยวกับอันตรกิริยาระหว่างไอออนที่มีพลังงานจลน์กับระบบผลึกที่มีความซับซ้อนสูงแล้ว ยังมุ่งหวังเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ด้วย ซึ่งถือว่าเป็นแห่งแรกของโลก จนได้รับการกล่าวถึงในรายงานของสถาบัน GIA ประเทศสหรัฐอเมริกาว่าเป็นเทคนิคใหม่ที่น่าสนใจ

        ในกรณีที่พลอยทับทิม ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นคือพบว่าการเกิดไอออนเหนี่ยวนำของไอออนออกซิเจนและไนโตรเจน เกิดปฏิกิริยา Oxidation-Reduction ของธาตุโลหะทรานซิซั่น ทำให้พลอยทับทิมใสขึ้น ลดมลทิน (inclusion) ที่อยู่ภายใน โดยไอออนออกซิเจนและไนโตรเจนเหนี่ยวนำทำให้ได้พลอยทับทิมที่มีสีออกม่วงสวยงาม และพลอยมีสีแดงเข้มมากขึ้นตามลำดับ สำหรับพลอยสีน้ำเงิน (blue sapphire) สามารถยิงไอออนเพื่อเพิ่มหรือลดสีน้ำเงินได้ด้วยการยิงไอออนไนโตรเจนหรือออกซิเจนไปที่พลอยสีน้ำเงินปนเขียวที่ตลาดไม่นิยม ให้เปลี่ยนเป็นน้ำเงินเข้มสดได้โดยการใช้ไอออนกระตุ้นให้คู่ธาตุเหล็กและไทเทเนียมที่ให้สีเหลือง เปลี่ยนเป็นให้สีน้ำเงิน และพลอยสีขาวขุ่น สามารถทำให้ใสขึ้นได้โดยการสลายมลทินขนาดเล็กด้วยลำไอออน ซึ่งเมื่อนำมาเจียระไนแล้วสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องประดับทดแทนเพชรได้ มูลค่าจึงสูงขึ้น
เรานำตัวอย่างงานมาจัดแสดงด้วยคือชิ้นงานที่เรียกว่า พลอยแกมเพชร เป็นนวัตกรรมและเหมาะสำหรับคนที่ไม่ชอบพลอยสังเคราะห์ก็ขอแนะนำให้เลือกพลอยไทย พลอยสีขาวที่ผ่านกระบวนการยิงไอออนแล้วก็มีรูปลักษณ์และมีมูลค่าเทียบเคียงได้กับเพชรเลยทีเดียว คือเราสามารถเปลี่ยนอัญมณีที่ดูไม่มีค่า คล้ายก้อนหินก้อนกรวดขี้เหร่ๆ ให้กลายเป็นเครื่องประดับที่มีคุณค่ามีราคา ก่อนทำกับหลังทำจะเป็นคนละอย่างกันเลย เราใช้อัญมณีพวก sapphire ซึ่งเป็นพวกตระกูลราคาแพง เหมาะสมกับการเพิ่มมูลค่า เราได้พลอยราคาถูกมาเราก็ไปลงทุนกับเครื่องมือ การที่เราไปหาพลอยอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่มีมากอยู่แล้ว แต่ว่าเราก็จะไปลงทุนที่เครื่องมือ มันแพง ก็ได้ผลลัพธ์เหมือนกัน เทคโนโลยีนี้แพงและไม่มีที่ไหนมีมาก่อน เราผลิตกันเอง คิดเอง ทำเอง ได้มาขนาดนี้ก็เก่งมากแล้ว ซึ่งกระบวนการนี้ไม่ใช่การสังเคราะห์อัญมณีแต่เป็นการพัฒนาคุณภาพจากอัญมณีที่มีมูลค่าต่ำมาเป็นมูลค่าสูงจากพลอยแท้ๆ นั่นล่ะ และไม่มีอันตราย แต่เป็นการวิ่งชนของไอออน เราจะผลิตไอออนขึ้นมาเล็กๆ ปกติเราอยู่แบบนี้เราก็มีการดูดซับเอาพลังงานไอออนเข้ามา เราแก่ไป เราโตขึ้น เหมือนกัน ตัวพลอยที่อยู่ในธรรมชาติเขาก็มีการดูดซับพลังงานเหมือนกัน ไปอย่างช้าๆ แต่เราเลือกจะใส่ปุ๋ยเร่งมันให้มันไปด้วยความเร็วเพราะว่าอาจจะอีกล้านปีเราถึงจะได้พลอยสวยๆ แต่เรารอไม่ไหวแล้ว พลอยจะเกิดจากหิน เขายังไม่สวย เราก็ไปแกะเขามาทำก่อน เราให้ความรู้คนด้วยเรื่องพวกนี้ 

         วันนี้เรานำตัวต้นแบบที่เรียกว่า คชปักษา เป็นสัตว์ในวรรณคดี ออกแบบโดยลูกศิษย์ของอาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ คชปักษานี้ยืนบนหินพลอยแท้ๆ รูปร่างคล้ายก้อนเมฆ กำลังทะยานสู่ท้องฟ้า หมายความว่าไม่ว่างานจะหนักหรือเบาเราก็ไปด้วยปีกและลม มีลักษณะถูกต้องตามคชลักษณ์ 10 ประการ ถือดอกไม้ไทย 10 ชนิด มาจัดแสดง เราเองก็ต้องมาประดับพลอยที่ปีกตามความเป็นจริงของการตกของแสงเวลาที่ช้างกระพือปีกบิน พลอยสีที่เห็นขนาดและลำแสงสีแวบมากแวบน้อยต่างกันตามความสวยงามที่ใต้ปีกและบนปีกของคชปักษาตัวนี้ ผ่านการยิงไอออน ให้ความใสสว่างอย่างที่ควรเป็นจากสีเขียวก็จะกลายเป็นแสงสีน้ำเงินในที่สุด จากสีแดงน้อยก็จะแดงเข้มไป เหมือน หงสาคู่นี้ ตัวผู้กับตัวเมีย ตัวเมียยืนบนใบไม้ ตัวผู้ยืนบนใบบัว ให้ความสง่างามต่างกัน ตัวผู้ลำแพน เราก็จะประดับพลอยจรัสแสงที่ด้านบนปีก ส่วนตัวเมียประดับพลอยใต้ปีก โชว์ทั้งตัวเครื่องประดับและเรื่องราวเพื่อให้ความรู้และอรรถรสศิลปะและเทคโนโลยีใหม่ด้วย อันนี้เป็นส่วนของนักวิจัยที่ทำออกมา ส่วนผู้ประกอบการก็จะดูในมุมของเขาว่า พลอยนี้แพงขึ้น คนที่ไปเจียระไนก็มองในมุมว่าเจียได้สวย ถ้าสวย มูลค่าจะถูกเพิ่มด้วยตัวดีไซน์ เรื่องราว ส่วนเราใช้วิชาวิทยาศาสตร์และงานวิจัยนำเสนอเพราะฉะนั้นเราจะมีความน่าเชื่อถือ เรามีระบบของความคิด แม้แต่สิ่งที่เราทำมาเป็นต้นแบบนี้ก็มีความเป็นศิลปะเข้าไปด้วย แต่ถ้าเราใส่ไปว่าอันนี้คือเครื่องไอออน แม้แต่นักวิทยาศาสตร์ที่ไม่ใช่นักฟิสิกส์ก็ไม่อยากรู้และไม่อยากเข้าใจด้วย ขณะนี้เราจดลิขสิทธิ์เฉพาะตัวกระบวนการ (process) ว่าเราทำแบบนี้แล้วเป็นแบบนี้เพราะว่าเรากลัวว่าต่างชาติจะเอาของเราไปใช้ก่อน เขาก็คงสามารถสร้างเครื่องได้เหมือนเรา กระบวนการที่เราทำมาเป็นสิบปีก็ยากกว่าที่เราจะได้ว่ายิงแบบนี้นะจากสีขุ่นให้เป็นสีขาวใสแล้วก็ไปเจียระไน เราใช้ความร้อนสูงแต่พลังงานต่ำ จะได้พลอยที่ดี สุญเสียน้อย เราไม่ได้ทำพลอยดี เราทำพลอยไม่ดีให้ดี ให้สวยขึ้นนั่นเอง งานนี้จึงต้องขอบคุณรัฐบาลที่เลือกงานวิจัยของ มศว มาจัดแสดงเพราะพลอยเป็นเรื่องที่ชาวบ้านเข้าถึงยาก แต่จริงๆ แค่ว่าคุณชอบของสวยไหม หรือชอบเรื่องความเชื่อโชคลาภของขลังว่าถ้าใส่อัญมณีนี้แล้วจะประสบความสำเร็จในชีวิต เพียงแค่มีความรู้ด้านนี้ก็ใช้ประกอบอาชีพได้เลยเหมือนนิสิต มศว สาขาอัญมณีและเครื่องประดับที่ออกแบบเครื่องประดับได้หลากหลาย เช่น เครื่องประดับแฟชั่น เครื่องประดับเพื่อความเป็นสิริมงคล แก้ป่วย งานพวกนี้เป็นงานที่มีการลงทุนสูง คนซื้อก็คือกลุ่มคนที่มีฐานะ ส่งออกก็ง่ายเพราะสินค้าเบาแต่แพง เขาอยากได้ที่ดีที่สุดเราก็ต้องหาที่ดีที่สุดให้ได้ เช่นเอาพลอยเม็ดโตที่ไม่ดีมาทำให้โต มีแสงสวยเพิ่มมูลค่า เราใช้นวัตกรรม ชู้ประกอบการมาให้โจทย์เราว่าแบบนี้ขายได้ ทำเลย เรามีนักฟิสิกส์ นักวัสดุศาสตร์ เรารวมทีมที่มีความเชี่ยวชาญมาทำกัน เราก็จะไปได้เร็ว ” 

        นายเสวต อินทรศิริ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยฟิสิกส์ของพลาสมาและลำอนุภาค และหน่วยวิจัยเทคโนโลยีลำอนุภาคและพลาสมา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้ผลิตเครื่องไอออนฯ กล่าวว่า “ เราได้ร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์ มศว ผลิตเครื่องไอออนเทคโนโลยีเร่งลำอนุภาคเข้าสู่อัญมณี เพื่อเพิ่มคุณค่าให้กับพลอยได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก โดยไม่ผ่านกระบวนการเผาและใช้เวลาในการทำน้อยกว่าแบบดั้งเดิมเกือบ 3 เท่าตัว ในการใช้หลักไอออนปรับปรุงคุณภาพพลอยดังกล่าว ศูนย์เทคโนโลยีนิตรอน มช. เป็นผู้สร้างเครื่องไอออนอิมพลานเตอร์ แต่องค์ความรู้ทั้งหมดเป็นของคณะวิทยาศาสตร์ มศว เพื่อเพิ่มมูลค่าของอัญมณีโดยเฉพาะพลอยให้มีมูลค่าสูงขึ้น ถือเป็นการสร้างมูลค่าให้กับอุตสาหกรรมเครื่องประดับไทยได้อีกทางหนึ่ง เป็นนวัตกรรมใหม่ของโลกที่ยังไม่มีการบันทึกว่าประเทศไหนเคยทำได้มาก่อน จึงเป็นความภูมิใจที่เราสามารถมีนวัตกรรมเป็นของเราได้ซึ่งได้รับการคัดเลือกจากรัฐบาลให้มาเผยแพร่แก่ผู้สนใจและประชาชนครั้งนี้” 
นายชาญบุญ และนายรัชตชัย รุกขจินดา เจ้าของบริษัท บุญพะวอ แลปปริดารี่ เป็นผู้ประกอบการที่ให้ความสนใจและจะสนับสนุนงานวิจัยนี้ไปขยายผลในเชิงพาณิชย์ กล่าวว่า“งานวิจัยนี้มีประโยชน์อย่างมากต่อการเพิ่มมูลค่าให้กับการค้าขายอัญมณีเครื่องประดับซึ่งบริษัทของเราเป็นผู้ค้าอัญมณีที่มีชื่อเสียงของแม่สอด ก็สนใจและจะให้การสนับสนุนงานวิจัยของ ดร.ดวงแข ให้สามารถพัฒนางานเครื่องประดับขายได้ตามความต้องการของผู้ซื้อมากที่สุด ลูกค้าที่ชื่นชอบอัญมณีส่วนใหญ่มักจะไม่สนใจเรื่องราคา แต่สนใจเรื่องความใสสะอาด สวยงาม น้ำงาม และสีที่ถูกโฉลก สีตามความเชื่ออย่างเช่นคนตุรกีที่นิยมสีฟ้าว่าช่วยปกป้องคุ้มครองภัยอันตรายต่างๆ นานาได้ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการที่ทำอุตสาหกรรมอัญมณีจำนวนมาก และก็มีอัญมณีประเภทพลอยมาก แต่ไม่มีคุณภาพมากพอที่จะใช้วิธีการนำไปเผาได้ จึงต้องอาศัยเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาเพื่อเปลี่ยนพลอยให้ใสสะอาดขึ้น เนื่องจากธุรกิจอัญมณีในประเทศไทยมีการแข่งขันกันสูงมาก ถ้าเราทำได้ตามที่ลูกค้าต้องการเขาก็จะซื้อโดยไม่มีข้อแม้”

ข่าว/ภาพข่าว : ภัทรพร หงษ์ทอง    
แหล่งข้อมูล ::   PR SWU ประจำวันที่ 30 ธันวาคม 2558

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น (BACHELOR OF ARTS PROGRAM IN JAPANESE) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

สาขาวิชาภาษาญี่ปุ่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ...

การออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน (Interior Environmental Design) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ครุศาสตร์อุตสาหกรรมบัณฑิต (การออกแบบสภาพแวดล้อมภายใน) ...

สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ธุรกิจและการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

หลักสูตรเศรษฐศาสตร์ธุรกิจ และการจัดการ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ...