U-Review

สาขาผู้ประกอบการ จบมาให้เป็นนายตัวเอง

 
UploadImage
                คุณเป็นคนหนึ่งไหมที่อยากรวย แต่ไม่อยากเป็นลูกจ้างใคร อยากทำงานตามกฎของตนเอง อยากจะเป็นผู้ประกอบการ และอยากจะมีธุรกิจเป็นของตนเอง แต่เราต่างก็รู้กันอยู่แล้วว่าการทำธุรกิจจริงๆ ไม่ได้ง่ายขนาดนั้น ในโลกของการแข่งขันเราอาจลองผิดลองถูกได้ แต่ถ้าได้ล้มแล้ว จะลุกขึ้นอย่างสง่างามนั้นคงยาก เพราะในการแข่งขันคู่แข่งของเราต่างก็พร้อมจะเหยียบซ้ำให้เราจมลงได้ทุกเมื่อ คงจะดีหากมีพื้นที่ให้ได้เรียนรู้และทดลองทำธุรกิจ ในรูปแบบของการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรี

 

                สาขาวิชาผู้ประกอบการ วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะเป็นทางเลือกสำหรับการศึกษาให้เราได้ทดลองทำธุรกิจ ได้ลองเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะเมื่อกระแส Startup หรือธุรกิจเริ่มต้นใหม่ในประเทศไทยกำลังเติบโต เราจะเห็นร้านค้าและบริการที่แปลกใหม่เกิดขึ้นอยู่รอบตัว โดยเฉพาะธุรกิจอาหารและเทคโนโลยี การเรียนในสาขานี้จะเป็นการเก็บเกี่ยวประสบการณ์ เพื่อดำเนินธุรกิจให้อยู่รอดในตลาดที่มีการแข่งขันสูง และเพื่อให้เห็นภาพอย่างชัดเจน เราจะมาเจาะลึกกันเลยว่าในการเรียนการสอนตลอดระยะเวลา 4 ปี ในสาขาวิชาผู้ประกอบการเป็นอย่างไร แล้วจะนำความสำเร็จมาสู่เราได้อย่างไร
 
                การเรียนการสอนในสาขาวิชาผู้ประกอบการจะเน้นไปที่การปฏิบัติจริง ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงการออกไปขายของให้ผู้ประกอบการเอกชนเท่านั้น แต่เป็นการปฏิบัติจริงที่หมายถึงนักศึกษาจะได้วางแผนธุรกิจของตัวเอง และได้เงินจากสาขาไปลงทุนทำจริง เมื่อเข้ามาเป็นนักศึกษาชั้นปีที่ 1 ของสาขาวิชาผู้ประกอบการ ในทุกๆ วันจันทร์จะมีการจัดงานสัมมนาจากนักธุรกิจชั้นนำให้นักศึกษาได้เข้าร่วม จากนั้นทางสาขาจะใช้ความร่วมมือที่มีกับบริษัทเอกชน เช่น บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ที่จะส่งนักศึกษาเข้าไปฝึกงานตั้งแต่ปี 1 เลย พอนักศึกษาขึ้นมาสู่ชั้นปีที่ 2 ทางสาขาจะให้นักศึกษานำเสนอแนวคิดทางธุรกิจ แล้วให้เงินทุนไปทำให้ธุรกิจเกิดขึ้นจริง คนละ 20,000 บาท พอนักศึกษาเข้าสู่ชั้นปีที่ 3 นักศึกษาจะต้องจับคู่กันทำธุรกิจ เพื่อเป็นการเรียนรู้การทำงานร่วมกัน ให้รู้ว่าควรเลือกคนแบบไหนมาเป็นพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ จนกระทั้งเมื่อนักศึกษาเรียนอยู่ชั้นปีที่ 4 จะเป็นการต่อยอดธุรกิจของตนเอง ต้องกลับมาดูว่าธุรกิจที่เริ่มไว้ตอนปี 1 เป็นอย่างไร ต้องการจะขยายต่อ หรือเริ่มต้นธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งทางสาขาจะสนับสนุนเงินทุนให้ในจำนวนที่สมเหตุผมผลกับแนวคิดทางธุรกิจที่นักศึกษาเสนอ โดย ดร.รวิดา วิริยกิจจา คณบดีวิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย บอกถึงที่มาของเงินทุนนี้ว่า “มูลนิธิสิริวัฒนภักดีมีทุนสนับสนุนสำหรับการส่งเสริมธุรกิจ Startup ของนักศึกษาอยู่ 99 ล้านบาท แล้วแต่ความคิด ถ้าเจ๋งจริงก็ได้เงินทุนอยู่แล้ว”
 
UploadImage
               ในเรื่องการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในสาขาวิชาผู้ประกอบการ วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย จะต้องจบการศึกษาเทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ทางสาขาจะมีแคมป์ “ผู้ประกอบการรุ้นเล็ก เด็กหัวการค้า” ซึ่งขอบอกเลยว่าเป็นแคมป์นี้น่าสนใจมาก และผู้ที่ต้องการเข้าเรียนในสาขานี้ไม่ควรพลาด ด้วยแคมป์นี้จะเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเรียนในสาขาวิชาผู้ประกอบการ พร้อมทั้งจะมีการคัดเลือกให้เข้าศึกษาต่อในสาขา และที่สำคัญมีการให้ทุนการศึกษาในแคมป์นี้อีกจำนวน 40 ทุน สำหรับผู้ที่ชนะการแข่งขันด้วย


 
                แล้วหากอยากประสบความสำเร็จในการประกอบธุรกิจเราจะต้องมีบุคลิกแบบไหน ดร.รวิดา บอกกับเราว่า “เรื่องนี้มันเก่าไปแล้ว” ในปัจจุบันไม่ว่าใครจะมีบุคลิกแบบไหน ก็สามารถประกอบธุรกิจได้ทั้งนั้น การจะเป็น Startup ไม่จำเป็นต้องทำคนเดียว เราสามารถมีพาร์ทเนอร์ที่จะทำธุรกิจร่วมกันเป็นทีมได้ โดยความสามารถของแต่ละคนจะสนับสนุนซึ่งกันและกัน แต่สิ่งหนึ่งที่ ดร.รวิดา บอกว่าสำคัญต่อการจะเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จได้คือ ต้องมีความดื้อ ความอดทน ไม่ย่อท้อต่อปัญหา แล้วจะทำให้ก้าวข้ามอุปสรรคที่เข้ามาได้
 
UploadImageUploadImage                การเริ่มต้นดีมีชัยไปกว่าครึ่ง หลายคนอาจจบไปทำงาน เปลี่ยนงาน ออกจากงานมาค้นหาตัวเอง กว่าจะมาเป็นนายตัวเองได้ก็เสียทั้งเวลาและโอกาสไปมากแล้ว แต่เด็กสาขาวิชาผู้ประกอบการ วิทยาลัยผู้ประกอบการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ไม่ใช่เพียงแค่เริ่มต้นดีเท่านั้น แต่ยังได้เริ่มต้นเร็ว และเริ่มต้นอย่างมั่นคง มีความรู้ด้วย เด็กสาขาผู้ประกอบการเริ่มต้นเป็นนายของตัวเองตั้งแต่การเรียน แถมยังสามารถลองทำ ลองเรียนรู้ผิด รู้ถูกภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญ ถ้าจะให้พูดกันแบบนักธุรกิจ งานนี้ขอบอกเลยว่าการลงทุนนี้คุ้มยิ่งกว่าคุ้ม
 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

Ph.D (Communication Arts) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชานิเทศศาสตร์ (นานาชาติ) มหาวิทยาลัยกรุงเทพ

เริ่มต้นจากปี พ.ศ. 2514 ที่มหาวิทยาลัยกรุงเทพได้ก่อตั้ง ...

Ph.D. (Logistics and Supply Chain Management) ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน มหาวิทยาลัยบูรพา

หลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ...

Ds.D. (Doctor of Music course) ดุริยางคศาสตรดุษฎีบัณฑิต มหาวิทยาลัยมหิดล

วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นสถาบันดนตรีที่สมบูรณ์แบบที่สุดแห่งแรกของประเทศไทย ...