U-Review

"เทคนิคการแพทย์ นักปฎิบัติการเบื้องหลังเพื่อผู้ป่วย" รีวิวสาขากายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด : U-Review

  คณะสายวิทยาศาสตร์สุขภาพอย่าง"คณะเทคนิคการแพทย์" เป็นอีกหนึ่งคณะที่กำลังได้รับความนิยม และสอดคล้องกับเทรนด์สุขภาพผู้สูงวัยในอนาคต ที่นับวันมีแนวโน้มสูงขึ้นเรื่อยๆ และวันนี้เราได้มีโอกาสไปคุยกับ รศ.ดร.ศิโรช จิตต์สุรงค์ คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เพื่อมาหาคำตอบให้น้องๆ ที่สนใจว่าจะต้องเตรียมตัวอย่างไร นิสัยไลฟ์สไตล์แบบไหนถึงเหมาะกับการเรียน และในอนาคตจะมีสายงานรองรับนักเทคนิคการแพทย์มากน้อยแค่ไหน ตามไปดูกันเลยค่ะ

UploadImage

ก่อนอื่นเลย ช่วยแนะนำคณะเทคนิคการแพทย์ว่าเป็นอย่างไร  มีสาขาอะไรบ้างคะ
    คณะเทคนิคการแพทย์เป็นวิชาชีพหนึ่งในสายวิชาวิทยาศาสตร์สุขภาพครับ ซึ่งจะประกอบไปด้วย รังสี, เทคนิคการแพทย์, กายภาพบำบัด และกิจกรรมบำบัด หน้าที่เบื้องต้นของเทคนิคการแพทย์ คือ การวิเคราะห์ตรวจสารจากสิ่งส่งตรวจผู้ป่วย ไม่ว่าจะเป็น เลือด หรือน้ำคัดหลั่งต่าง ๆ ในตัวผู้ป่วย เพื่อค้นหาสาเหตุของโรค หรือติดตามการรักษาของแพทย์ และประเมินสุขภาพทั่วไปของผู้ป่วย ซึ่งเป็นอาชีพหนึ่งที่มีความสำคัญมาก เพราะเป็นการทำงานเบื้องหลังการรักษาของแพทย์ และช่วยส่งเสริมให้การรักษาของแพทย์มีประสิทธิภาพดีขึ้นครับ
 
    "หลัก ๆ ของการเป็นเทคนิคการแพทย์ คือเป็นเหมือนผู้ช่วยแพทย์  เป็นส่วนที่ทำงานอยู่เบื้องหลัง ซึ่งเป็นหน้าที่ที่สำคัญ เพราะหากไม่มีการวินิจฉัยของฝ่ายเทคนิคการแพทย์ก็อาจทำให้การรักษาโรคเป็นไปได้ยากขึ้น"
 
UploadImage

น้องๆ ที่จะเข้ามาเรียนเทคนิคการแพทย์ ต้องมีคุณสมบัติอย่างไรบ้างคะ?
    ควรเป็นคนที่มีความมุ่งมั่น และใฝ่รู้ครับ เพราะการเรียนจะเน้นการปฏิบัติ และชีวิตส่วนใหญ่ก็จะอยู่ในห้องแลปครับ ถ้าเกิดใครชอบการค้นคว้าวิจัยในห้องปฏิบัติการก็สามารถมาเรียนได้ครับ และนอกจากนี้สัญลักษณ์ของคณะเทคนิคการแพทย์ก็จะเป็นเครื่องจุลทรรศน์ ซึ่งเป็นเหมือนกับอาวุธประจำตัวของนักเทคนิคการแพทย์ทั่วไป ที่จะใช้วิเคราะห์สิ่งส่งตรวจต่าง ๆ จึงจะเหมาะกับคนที่ชอบค้นคว้าสิ่งใหม่ๆ ชอบวิเคราะห์วิจัย และถึงแม้เราจะทำงานเบื้องหลังเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็มีบ้างที่เราจะต้องพบปะกับผู้ป่วยเพื่อสอบถามอาการเหมือนหมอคนหนึ่ง เราก็จะต้องมีความเอื้ออาธร และมีจิตอาสาในการปฏิบัติตัวกับคนไข้ครับ
 
UploadImage

บรรยากาศการเรียนที่ม.อ.
    บรรยากาศการเรียนของคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ จะมีบรรยากาศที่สนุกสนานเป็นกันเองครับ เพราะในการเรียนพื้นฐานปี 1 และปี 2 เทอม 1 นักศึกษาจะได้เรียนร่วมกับเด็กคณะอื่น ๆ พอกลับมาเรียนที่คณะ คณะก็จะมีการเตรียมความพร้อมห้องปฏิบัติติการเพื่อรองรับการเรียนอย่างเหมาะสม การเรียนการสอนก็จะเน้นให้นักศึกษาเป็นจุดศูนย์กลางในการเรียน (Active Learning) คือการให้นักศึกษาได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง ทำให้นักศึกษาสนุกสนานกับการเรียนและเข้าใจบทเรียนได้ดีขึ้น นักศึกษาส่วนใหญ่ที่จบไปก็จะมีทักษะในการนำเสนอ กล้าคิดกล้าแสดงออกครับ
    นอกจากนี้ แม้นักศึกษามหาวิทยาลัยสงขลานครินทรน์ส่วนใหญ่จะเป็นนักศึกษาจากพื้นที่ในจังหวัดใกล้เคียง แต่ก็มีนักศึกษาจากภาคอื่น ๆ ต่างภูมิภาค ทั้งจากภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก และภาคกลางมาเรียน ทำให้มีวัฒนธรรมต่าง ๆ ของแต่ละพื้นที่แต่ละจังหวัด มีการรวมกลุ่มเป็นชมรมที่มีบรรยากาศให้ความอบอุ่นเหมือนอยู่ที่บ้านครับ
UploadImage

แล้วการเรียนการสอนเป็นอย่างไรบ้างคะ?
    สำหรับน้อง ๆ ที่สนใจคณะเทคนิคการแพทย์ ภาพรวมการเรียนการสอนในเบื้องต้นนั้นไม่ได้ยากหรือง่ายเกินไป ระดับความยากอยู่ในระดับกลางๆ และการเรียนที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์จะเป็นหลักสูตรเรียน 4 ปี โดยตั้งแต่ปี 1 ถึง ปีที่ 2 เทอม 1 นักศึกษาจะต้องเรียนวิชาวิทยาศาสตร์พื้นฐาน และหลังจากผ่านชั้นปีที่2 เทอม1ไปแล้ว ก็จะเริ่มการเรียนในส่วนของวิชาชีพแพทย์ ตลอดปี 2 เทอม 2  จนถึงปี 4  เมื่อถึงปี 4 ภาคเรียนที่ 2 นักศึกษาก็จะได้ไปฝึกงานในสถานที่จริง ในโรงพยาบาลต่าง ๆ ทั่วประเทศ และหลังจากนั้น นักศึกษาก็จะต้องกลับมาเตรียมตัวสอบเพื่อรับใประกอบโรคศิลป์ และจะจบการศึกษาเป็นเทคนิคการแพทย์ที่สามารถประกอบอาชีพได้
    แต่สำหรับนักศึกษารุ่นใหม่ที่จะเข้ามาเรียนในปีหน้า เราจะสนับสนุนให้น้อง ๆ ได้ไปฝึกวิชาเทคนิคเพิ่มเติมในปี 2 ภาคการศึกษาฤดูร้อน เพื่อเป็นการเพิ่มทักษะในการปฏิบัติงานในอนาคตของนักศึกษาครับ
UploadImage

ในเรื่องการทำงาน จบมาจะมีงานทำไหม ตลาดแรงงานกว้างขวางแค่ไหนคะ ?
    ปัจจุบันนี้ มีเทคนิคการแพทย์เข้าสู่ตลาดแรงงานปีละประมาณ 1,000 กว่าคน และยังมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ถ้าหากไม่เลือก ก็จะมีงานรองรับเด็กจบใหม่ทุกคน เพราะในอนาคตจะมีการพัฒนาการตรวจวินิจฉัยโรคคนไข้ที่เพิ่มขึ้นและมีความหลากหลายมากขึ้น  อัตราผู้ป่วยก็มีแนวโน้มสูงขึ้น หน้าที่ของเทคนิคการแพทย์ คือการวิเคราะห์ตรวจโรคในห้องปฏิบัติการตามโรงพยาบาลทั่วไป แต่ไม่จำกัดเฉพาะต้องทำในห้องปฏิบัติติการเท่านั้น สำหรับคนที่ไม่ได้ทำงานด้านนี้ก็สามารถเป็นนักวิจัย หรือทำอาชีพอิสระ เช่น เป็นอาจารย์ เปิดคลินิก ตรวจวินิจฉัยผู้ป่วยตามคลินิกทั่วไปได้ หรืออาจประกอบอาชีพส่วนตัว เป็นผู้แทนบริษัท หรือเป็นนักวิจัยตามโรงพยาบาลสถาบันต่าง ๆ ได้ เป็นสายอาชีพที่ค่อนข้างจะกว้างขวางครับ และสามารถเลือกเรียนต่อปริญญาโท - เอก ตามสาขาต่าง ๆ ที่สนใจได้ โดยทั่วไปตอนนี้คณะเทคนิคการแพทย์ก็ยังเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานครับ
UploadImage

การเปิดรับนักศึกษา
    คณะเทคนิคการแพทย์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ปีหนึ่งเปิดรับนักศึกษา 60 ที่นั่งครับ แบ่งเป็นรับตรง 75% หรือประมาณ 45 คน ประกอบไปด้วยเด็กจากโครงการเรียนดี และโครงการ สวนอ. นอกจากนี้เรายังเปิดรับในระบบแอดมิชชันอีก 25% หรือ 15 คนครับ

สุดท้ายนี้ขอคำแนะนำสำหรับน้อง ๆ ที่อยากเข้าเทคนิคการแพทย์จะต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้างคะ  
    ขอให้เตรียมทบทวนความรู้สายวิทย์ให้พร้อม ทำความเข้าใจเนื้อหาให้ชัดเจน มีจุดไหนที่ไม่เข้าใจก็ควรถามเพื่อนหรืออาจารย์ที่ปรึกษาครับ นอกจากนี้หากมีข้อสงสัยก็สามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมได้ใน เว็บไซต์เทคนิคการแพทย์ ได้ตลอดเวลาครับ 



ขอบคุณข้อมูลจาก : รายการ OPEN HOUSE ONAIR www.curadio.chula.ac.th
ขอบคุณภาพประกอบจาก : http://www.psu.ac.th/th/node/5040 และ  photoxcite.com/v2_2/landscape/471-psu-hatyai-campus.html
 

รีวิวหลักสูตรที่เกี่ยวข้อง

แผนการเรียนแบบสองภาษา (Bilingual Track) มหาวิทยาลัยนานาชาติแสตมฟอร์ด

Step-by-step Plan for Thai students แผนการเรียนแบบสองภาษา ...

สาขาภาพยนตร์และสื่อดิจิทัล (Film and Digital Media) มหาวิทยาลัยศรีปทุม

“นักคิดผลิตงานภาพยนตร์และสื่อดิจิทัลมืออาชีพ” ...

สาขาบริหารธุรกิจบัณฑิต (การค้าระหว่างประเทศ) มหาวิทยาลัยศรีปทุม

มุ่งเน้นให้ผู้เรียนมีความรู้ความเข้าใจในการดำเนินธุรกิจที่แตกต่างกันไปตามสภาพแวดล้อมของแต่ละประเทศและภูมิภาคของโลก ...