หน้าแรก เรียนต่อต่างประเทศ ประสบการณ์รุ่นพี่

"ศศธร เจริญพันธ์" สาวเชียงใหม่ นักโบราณคดีหญิงไทย หนึ่งเดียวในอังกฤษ

วันที่เวลาโพส 25 มกราคม 61 11:34 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

"นักโบราณคดี" อาชีพที่คนส่วนใหญ่ไม่ค่อยรู้รายละเอียดมากนัก และมองว่าเป็นอาชีพที่มีรายได้ไม่สูง ไม่สามารถสร้างฐานะที่มั่นคงในชีวิตได้ ผู้ปกครองบางส่วนจึงไม่สนับสนุนให้ลูกหลานเลือกเรียนสายวิชาชีพนี้ เพราะกลัวว่าลูกจะ "ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต" แต่สำหรับ ศศธร เจริญพันธ์ หญิงสาวร่างเล็ก ช่างพูดคุยจากเชียงใหม่ กลับมีความรักและภาคภูมิใจในอาชีพนักโบราณคดีที่เธอหลงใหลมาตั้งแต่เด็ก แล้วเดินตามความฝันจนได้มาทำงานเป็นนักโบราณคดีของ Museum of London Archaeology (MOLA) ซึ่งเป็น 1 ใน 5 องค์กรด้านโบราณคดีชั้นนำในสหราชอาณาจักร
 
ภาพจาก : BBC.com
 

ภาพยนตร์ "อินเดียน่า โจนส์" คือ แรงบันดาลใจ
ศศธร บอกว่า นักโบราณคดีเป็นอาชีพที่เธอใฝ่ฝันตั้งแต่วัยเด็ก หลังจากที่เธอได้ดูหนังผจญภัยเรื่อง อินเดียน่า โจนส์ ที่ แฮร์ริสัน ฟอร์ด รับบทนักโบราณคดีผู้ออกตามล่าขุมทรัพย์ล้ำค่าไปทั่วโลก รวมทั้งการ์ตูนเรื่อง คำสาปฟาโรห์ ที่จุดประกายความสนใจในเรื่องประวัติศาสตร์

" รู้ตัวตั้งแต่อายุไม่ถึง 10 ขวบ ตอน 8 ขวบรู้เลยว่าอยากเป็น แต่ไม่รู้ว่าอันนั้นมันเป็นนักโบราณคดี และตัวเองเป็นคนที่อ่านการ์ตูนแล้วต้องต่อ พออ่านการ์ตูนที่เค้าพูดถึงเรื่องอียิปต์ เมโสโปเตเมีย แล้วมันคืออะไร เราก็ต้องเข้าห้องสมุด "

เธอเล่าย้อนถึงนิสัยรักการอ่านและชอบค้นคว้าเรื่องประวัติศาสตร์โบราณที่เธออยากรู้ 
ความหลงใหลที่มีแต่วัยเยาว์ไม่เคยจางหายไป เมื่อถึงวัยที่ต้องเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัย ศศธร สอบได้คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยที่คุณแม่ให้อิสระลูกสาวเลือกเส้นทางอาชีพของตัวเอง และคอยดูอยู่ห่างๆ
 
ภาพจาก : BBC.com
 
จากไทยไปอังกฤษ
หลังเรียนจบและเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทำงานที่เมืองไทยได้ระยะหนึ่ง ศศธร ได้ตัดสินใจครั้งสำคัญในชีวิตในการเดินทางไปใช้ชีวิตและหางานทำในอังกฤษ แม้ว่าเธอจะสมัครงานทุกที่ที่เธอคิดว่าตัวเองทำได้ โดยไม่จำกัดแค่งานที่ตรงกับสายวิชาชีพตนเอง แต่ศศธร ก็ยังว่างงานอยู่หลายเดือน

" เข้าใจนะว่าหลายคนอาจท้อแท้ไม่ไหวแล้ว มันก็มีวันที่ไม่ไหวแล้ว อนุญาตให้ตัวเองท้อแท้ได้ 5 นาที 10 นาที 20 นาที แล้วไปนอน พรุ่งนี้ตื่นมาเอาอีก เขียนจดหมายส่งอีก ทำทุกอย่าง เดินถือ CV เข้าไป ถ้าคุณทำทุกอย่างแล้วไม่ได้ก็ไม่ต้องโทษตัวเองเพราะคุณได้ทำดีที่สุดแล้ว ทุกอย่างมันไม่ได้อยู่ที่ความสามารถอย่างเดียว มันไม่ได้อยู่ที่หน้าตา มันอยู่ที่โชคชะตา และจังหวะชีวิตด้วย..."

ความไม่ย่อท้อทำให้ ศศธร ได้งานในที่สุด โดยเริ่มจากงานอาสาสมัครไม่มีค่าแรงที่พิพิธภัณฑ์, พนักงานเสิร์ฟ, พนักงานดูแลสนามกีฬา และงาน gallery assistant ซึ่งมีหน้าที่ดูแลห้องจัดแสดงของ National Maritime Museum ซึ่งเป็นพิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์การเดินเรือของอังกฤษ และงานนี้เองถือเป็นการปูความรู้ด้านประวัติศาสตร์อังกฤษให้แก่เธอ จนในที่สุดเธอได้รับข้อเสนอให้ทำงานเป็นนักโบราณคดีที่ MOLA
 
ภาพจาก : BBC.com
 

นักโบราณคดี ทำอะไร?

ข้อมูลจากเว็บไซต์ของกรมศิลปากรระบุว่า นักโบราณคดีทำงานศึกษาค้นคว้า เพื่อให้เกิดความรู้และความเข้าใจ สังคม วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมทุกอย่างที่เกี่ยวกับมนุษย์ในอดีต โดยสำรวจและขุดค้น แล้วนำหลักฐานทางโบราณคดีมาศึกษาวิเคราะห์ และตีความ ด้วยหลักวิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ศิลปะ มานุษยวิทยา ฯลฯ จากนั้นก็เผยแพร่ความรู้ที่ได้ในรูปของการเขียนเป็นรายงานการสำรวจ ขุดค้น บทความทางวิชาการ จัดแสดงเป็นนิทรรศการ หรือจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ เป็นต้น


 
นักโบราณคดีที่อังกฤษทำงานอย่างไร?

ศศธร เล่าว่า เมื่อมีการก่อสร้างอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างใหม่ในอังกฤษ กฎหมายของอังกฤษกำหนดให้เจ้าของที่ดินต้องว่าจ้างนักโบราณคดีเข้าไปสำรวจ และหากพื้นที่ดังกล่าวมีคุณค่าทางโบราณคดีสูง ทางการก็จะเข้าไปอนุรักษ์โบราณสถานหรือโบราณวัตถุให้เป็นมรดกของคนในชาติต่อไป

" มันเป็นกฎหมาย คือเขาไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ถ้ามันมีอะไรที่สำคัญเขาไม่สามารถทดแทนได้ถ้าเขาทำลายไป ยกตัวอย่างเช่น ถ้าสมมติว่ามีหลุมศพแซกซอน คุณจะทำยังไงถ้าคุณขุดแล้วหัวกะโหลกหลุดออกมา เพราะทุกสิ่งทุกอย่างมันประเมินค่าไม่ได้ "  ศศธร กล่าวถึงชาวแองโกล-แซกซอน ที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ทางใต้และตะวันออกของสหราชอาณาจักร ระหว่างต้นคริสต์ศตวรรษที่ 5 จนกระทั่งถึงการรุกรานของนอร์มัน ในปีค.ศ. 1066
 
ภาพจาก : BBC.com
 
เมื่อประเมินแล้วว่าพื้นที่ดังกล่าวมีคุณค่าทางด้านโบราณคดีสูง ทาง MOLA จะส่งเธอและทีมนักโบราณคดีเข้าไปขุดค้น จดบันทึกสิ่งที่พบ จากนั้นก็รวบรวมข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ตีความหลักฐานที่พบแล้วเขียนเป็นรายงานเรื่องราวของสถานที่นั้นๆ ศศธร บอกว่า อาชีพนี้ก็คือนักสืบเรื่องราวในอดีต โดยนำหลักฐานที่ค้นพบมาปะติดปะต่อและตีความเป็นเรื่องราวที่เกิดขึ้นเมื่อหลายร้อยหรือหลายพันปีที่แล้ว ซึ่งบ่อยครั้งใช้เป็นบทเรียนสอนใจคนยุคปัจจุบันได้ ทั้งยังช่วยให้คนยุคใหม่มีความรู้สึกผูกพัน และตระหนักถึงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ของสถานที่ที่ตนทำงานหรืออาศัยอยู่ด้วย


ก้าวสู่ "ผู้นำทีม"
การทำงานเป็นนักโบราณคดีหญิงไทยในอังกฤษมากว่า 10 ปี ทำให้ ศศธร เป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมงาน และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำทีมนักโบราณคดีของ MOLA ซึ่งประกอบไปด้วยเพื่อนร่วมงานหลากเชื้อชาติในการทำงานภาคสนามหลายครั้ง ทั้งยังได้มีโอกาสเข้าไปทำงานในสถานที่สำคัญหลายแห่งของโลก เช่น พระราชวังบักกิงแฮม รวมทั้งแหล่งโบราณคดีที่ประเทศเลบานอน และกาตาร์ด้วย
 
ภาพจาก : BBC.com

ศศธร บอกว่า เรื่องภาษาและการเป็นผู้หญิงไม่เป็นอุปสรรคในการทำงานของเธอ สิ่งสำคัญคือต้องเป็นตัวของตัวเอง นิสัยคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใส มีความอ่อนน้อม ช่วยให้เธอเข้ากับเพื่อนร่วมงานต่างชาติได้ดี นอกจากนี้การเปิดใจกว้างไม่ถือทิฐิยอมรับความเห็นเพื่อนร่วมทีม ไม่ว่าอาวุโสมากกว่า หรือน้อยกว่า ก็ช่วยให้เธอได้เก็บเกี่ยวความรู้และพัฒนาทักษะในอาชีพนี้

ศศธร พูดถึงแนวคิดในการทำงานเป็นทีมของเธ
อว่า "การยอมรับความผิดพลาดของตัวเอง การยอมขอโทษแบบแมน ๆ ขอโทษเด็ก ขอโทษผู้ใหญ่ ฉันขอโทษจริง ๆ ...ถ้าฉันทำอะไรผิดมาคุยกันได้เลย ฉันพร้อมจะปรับตัว แต่ไม่ใช่อ่อนจนเค้าบอกอะไรมาก็ทำไปหมด" 
 

ความสุข คือ ความสำเร็จในชีวิต
นิยามของ "ความสำเร็จในชีวิต" ศศธร มองว่า คือการค้นหาสิ่งที่ตัวเองรักและไปให้ถึงฝัน ไม่ใช่จำนวนเงินที่ได้จากการทำงาน เธอบอกว่าอาชีพนักโบราณคดีถือเป็นหนึ่งในงานสายวิชาการที่มีรายได้น้อยที่สุดและทำงานหนักที่สุด


" อยากให้ทุกคนค้นพบตัวเองและทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ตามหาฝันของตัวเอง ความสุขคือการได้ทำสิ่งที่ตัวเองรัก การประสบความสำเร็จในชีวิตคือการมีความสุข อย่าให้ใครมาบอกว่าคุณสำเร็จแล้ว หรือคุณยังไม่สำเร็จ คุณไม่ต้องเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับใคร คนบางคนไม่ได้มีเงินเยอะเลยค่ะ...แต่เขากลับบ้านไปเจอครอบครัวเจอลูกที่มีความสุขแล้วเขาแฮปปี้กับตรงนั้น เขาประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วค่ะ "

ศศธร หวังว่าเธอจะได้ทำงานโบราณคดีที่ตนเองรักต่อไปเรื่อย ๆ และอยากนำความรู้และประสบการณ์ที่สั่งสมมากลับไปถ่ายทอดต่อให้นักเรียนที่เมืองไทย
 
ภาพจาก : BBC.com


ที่มา : www.bbc.com

 
 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด