หน้าแรก เรียนต่อต่างประเทศ ประสบการณ์รุ่นพี่

มหาวิทยาลัยเกาหลีใต้เพิ่มหลักสูตร "การเดท การแต่งงานและครอบครัว" แก้ปัญหาประชากร

วันที่เวลาโพส 27 พฤศจิกายน 60 11:50 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

ไม่ใช่แค่ประเทศญี่ปุ่นเท่านั้น ที่เผชิญกับอัตราการเกิดที่น้อยลง แต่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเกาหลีใต้ก็กำลังเผชิญภาวะนี้เช่นเดียวกัน โดยปี 2017 เป็นปีที่อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ตกต่ำหนักที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งผลสำรวจทั้งปีที่ผ่านมา พบว่ามีทารกเกิดใหม่เพียง 360,000 คนเท่านั้น ทำให้เกาหลีใต้จะกลายเป็นสังคมสูงวัยที่กำลังจะขาดแคลนประชากรวัยทำงาน


แม้ว่าตลอด 10 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลเกาหลีใต้จะทุ่มงบประมาณในการส่งเสริมและกระตุ้นอัตราการเกิดเป็นเงินกว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ก็ยังไม่สามารถจูงใจให้ชาวเกาหลีใต้หันมาสนใจเรื่องของการสร้างครอบครัวมากขึ้นได้ หลายภาคส่วนจึงต้องส่งเสริมและหาทางใหม่ๆ ในการกระตุ้นให้ประชากรเพิ่มขึ้นมา ซึ่ง มหาวิทยาลัย Kyung Hee และ มหาวิทยาลัย Dongguk ในกรุงโซล ได้เปิดคอร์สเรียนที่ชื่อว่า ‘การแต่งงานและครอบครัว’ (Marriage and Family) โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ช่วยนักศึกษาได้เข้าใจในเรื่องความรัก และการพัฒนาความสัมพันธ์ให้ยืนยาว
 

โดย ศาสตราจารย์จางแจซุก (Jang Jae-sook) ผู้รับผิดชอบหลักสูตรนี้ระบุว่า คนรุ่นใหม่ที่มีอายุประมาณ 20-40 ปีในเกาหลีใต้ ถูกเรียกว่า ‘Sampo Generation’ หมายถึง คนรุ่นใหม่ที่ละทิ้งการแต่งงาน การสร้างความสัมพันธ์ในระยะยาวและการมีลูก เพราะคนในยุคนี้ต้องเผชิญกับความกดดันหลายด้าน ทั้งเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน ราคาอสังหาริมทรัพย์ และค่าเล่าเรียนที่แพงขึ้นเรื่อยๆ ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่นิยมสร้างครอบครัวหรือแต่งงานมีคู่ เพราะคิดว่าเป็นภาระ 

คอร์ส ‘การแต่งงานและครอบครัว’ นี้ นอกจากจะมีการเลคเชอร์ในห้องเรียนแล้ว ยังได้ออกแบบให้นักศึกษาออกเดทกับเพื่อนร่วมชั้น 3 คนต่อหนึ่งเดือน เพราะเขาเชื่อว่าการได้ทดลองพัฒนาความสัมพันธ์ในชีวิตจริง จะช่วยให้วัยรุ่นได้เข้าใจเรื่องเหล่านี้ได้ลึกซึ้งมากขึ้นนั่นเอง ซึ่งส่วนสำคัญของหลักสูตรนี้ ไม่ได้เน้นเพียงแค่ให้นักศึกษามีแฟน แต่งงาน และมีลูกอย่างเดียวเท่านั้น


โดยเนื้อหาภายในหลักสูตรยังสอนให้ป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุการณ์ต่างๆ  “ปัญหาหลักๆ ในครอบครัว ทั้งเรื่องของเงิน ความรุนแรง การทะเลาะเบาะแว้ง และการหย่าร้างกัน เกิดจากคนจำนวนมากรู้ไม่เท่าทันอารมณ์ ความรู้สึก และพฤติกรรมของตัวเอง ผมจึงเปิดโอกาสให้นักศึกษาร่วมสะท้อนความคิดเห็นและถกเถียงกันในสถานการณ์จำลองต่างๆ เช่น กรณีทะเลาะหรือมีการหึงหวงกัน ผู้ที่เข้าเรียนจะมีโอกาสได้ทำความเข้าใจวิธีคิดของผู้ที่ตนเองคบหา โดยหวังว่าจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหรือการคลี่คลายความขัดแย้งร่วมกันโดยไม่ใช้กำลังหรือความรุนแรง” ศาสตราจารย์จางแจซุกกล่าว

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด