หน้าแรก เรียนธุรกิจเรือสําราญ ข่าว/บทความ

สถานการณ์ แนวโน้ม และโอกาสของการท่องเที่ยวเรือสำราญในภูมิภาคเอเชีย

วันที่เวลาโพส 02 เมษายน 61 18:15 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium
สถานการณ์การท่องเที่ยวเรือสำราญของภูมิภาคเอเชีย ภูมิภาคเอเชียสามารถแบ่งออกเป็น 3 ภูมิภาคย่อยสำหรับการท่องเที่ยวเรือสำราญ ได้แก่ เอเชียตะวันออก (East Asia) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia) และเอเชียใต้ (South Asia)  โดยแต่ละภูมิภาคย่อยมีความหลากหลายของวัฒนธรรม แหล่งท่องเที่ยว กิจกรรมการท่องเที่ยว ฤดูกาล และสภาพภูมิอากาศ


ภาพรวมของแต่ละภูมิภาคย่อยของทวีปเอเชีย

1.1 เอเชียตะวันออก (East Asia)
ประกอบด้วยประเทศหลักๆ คือ จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ เป็นต้น ในปัจจุบัน (ค.ศ. 2015) มีจำนวนเรือและลูกค้าเรือสำราญเดินทางเข้าไปแวะท่องเที่ยวมากที่สุด เนื่องจากความพร้อมของท่าเรือ ทำเลที่ตั้งที่อยู่ใกล้ประเทศจีน ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าหลัก ระยะทางระหว่างท่าเรือที่ใกล้กัน อีกทั้งแหล่งท่องเที่ยวและกิจกรรมการท่องเที่ยวมีความหลากหลาย  โดยฮ่องกงทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางของการท่องเที่ยวเรือสำราญในแถบนี้ ในขณะที่จีนและประเทศอื่นๆ ได้พัฒนาเพื่อเข้ามาแย่งชิงโอกาสในการเป็นท่าเรือหลักในแถบนี้


1.2 เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (South East Asia)
ประกอบด้วย สิงคโปร์ ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม เป็นต้น เป็นภูมิภาคย่อยของเอเชียที่มีเรือสำราญและนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวรองลงมาจากเอเชียตะวันออก เนื่องจากตัวสินค้าทางการท่องเที่ยวที่หลากหลายและน่าสนใจ ความคุ้มค่าเงิน เส้นทางการเชื่อมต่อระหว่างท่าเรือที่ใกล้กัน สภาพอากาศ ในภูมิภาคย่อยนี้ สิงคโปร์มีบทบาทในการเป็นท่าเรือหลัก และเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเรือสำราญ

ในขณะที่ประเทศอื่นๆ รวมทั้งประเทศไทย แสดงบทบาทการเป็นท่าเรือแวะพัก (Port of Call) ประเทศสิงคโปร์ได้ทุ่มงบประมาณในการพัฒนาตัวท่าเรือเพื่อรองรับเรือสำราญที่เพิ่มขึ้น ทั้งจำนวนและขนาด โดยสร้างท่าเรือหลักสำหรับเรือสำราญท่าที่สองชื่อ Marina Bay Cruise Center ซึ่งมีขนาดใหญ่และสามารถรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่มากเพิ่มขึ้นจากท่าเรือเดิมคือ Singapore Cruise Center ในขณะที่ประเทศอื่นในภูมิภาคนี้มีการพัฒนาตัวท่าเรือไปอย่างช้าๆ ทำให้ความสามารถในการรองรับเรือสำราญขนาดใหญ่มีข้อจำกัด เพราะในบริบทการพัฒนาจำเป็นต้องบูรณาการไปด้วยกันทั้งภูมิภาค การที่มีท่าเรือหลักที่ได้มาตรฐาน แต่ท่าเรือแวะพักยังไม่พร้อมจึงเป็นข้อจำกัดในการเติบโตของอุตสาหกรรม


1.3 เอเชียใต้ (South Asia)
ประกอบด้วย อินเดีย ศรีลังกา มัลดีฟ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นภูมิภาคย่อยของเอเชียที่แม้จะมีจำนวนเรือสำราญแวะพักน้อยที่สุด แต่มีอัตราการเติบโตสูงที่สุด เพียงแต่แต่ละประเทศยังไม่มีการพัฒนาท่าเรือเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน โดยเรือสำราญส่วนใหญ่ที่ไปแวะพักยังท่าเรือแถบนี้เป็นเรือสำราญขนาดเล็กและขนาดกลาง เนื่องจากมีข้อจำกัดในหลายประเด็น โดยเฉพาะตัวท่าเรือ

ภาพจาก : pantip.com

การพัฒนาท่าเรือของประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชีย เมื่อเรือสำราญเติบโตมากยิ่งขึ้น หลายประเทศได้มีการพัฒนาท่าเรือเพื่อตอบสนองความต้องการของเรือสำราญ การพัฒนาท่าเรือส่วนใหญ่เน้นความสามารถในการรองรับขนาดและจำนวนของเรือสำราญเป็นหลัก โดยเน้นการสร้างขึ้นใหม่ และการขยายจากของเดิม  มีการสร้างท่าเรือตามมาตรฐานสากล ยิ่งไปกว่านั้นมีการพัฒนาท่าเรือในองค์รวมเพื่อแย่งชิงโอกาสในการเป็นท่าเรือหลักที่เป็นจุดเริ่มต้นการล่องเรือหรือจุดสิ้นสุดการล่องเรือ สาเหตุเพราะการเป็นท่าเรือหลักสามารถสร้างรายได้ให้กับท่าเรือมากถึง 4-8 เท่าของท่าเรือแวะพัก ประเทศจีนได้สร้างท่าเรือสำหรับรองรับเรือสำราญไว้ในหลายเมือง เช่น เมืองเทียนจิน เซี่ยงไฮ้ ปักกิ่ง ต้าเหลียน 

ในขณะที่ฮ่องกงก็มีการสร้างท่าเรือสำหรับเรือสำราญใหม่ ญี่ปุ่นกับเกาหลีมีท่าเรือสำหรับรองรับในหลายเมืองท่า ทำให้สายการเดินเรือนำเรือสำราญขนาดใหญ่มาให้บริการในภูมิภาคนี้เพิ่มขึ้น และต่อเนื่อง  ในส่วนของท่าเรือในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปัญหาหลักคือท่าเรือยังไม่ได้มาตรฐาน ยกเว้นประเทศสิงคโปร์ ทำให้เป็นข้อจำกัดในการนำเรือขนาดใหญ่มากเข้ามาในภูมิภาคแห่งนี้
 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด