หน้าแรก เรียนธุรกิจดิจิทัล ข่าว/บทความ

รู้ทันโลกดิจิทัล ผ่าน 5 เทรนด์อนาคตที่เกิดขึ้นแล้วในชีวิตเราวันนี้

วันที่เวลาโพส 21 มีนาคม 61 16:41 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

ธุรกิจทุกรูปแบบ จะนำ Internet of Things (IoT) เข้ามาช่วยมากขึ้น

จากแนวโน้มในหลายปีที่ผ่านมา Gartner บริษัทแถวหน้าเรื่องการวิจัยและให้คำปรึกษาด้านเทคโนโลยี คาดว่า Smart Device ทั่วโลกจะเพิ่มจำนวนมากถึง 2 หมื่นล้านชิ้นในปี 2020 ซึ่งเทรนด์นี้ก็สอดคล้องกับแนวโน้มที่ว่าฟรีแลนซ์จะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนตลาดแรงงานมากถึง 50%

และปฏิเสธไม่ได้เลยว่า นี่คือยุค Mobile First และเป็นยุคสมัยที่คนไทยใช้ชีวิตผูกติดกับ Smartphone และ Internet อย่างสถิติที่บอกไว้ว่า กรุงเทพฯ ครองอันดับ 1 เมืองที่มีผู้ใช้ Facebook มากที่สุดในโลก ถึง 22,000,000 คน (อ่านเพิ่ม ยุคสมัยที่คนไทยใช้ชีวิตผูกติดกับ Smartphone และ Internet)

ดังนั้น โลกดิจิทัลและโลกแห่งความเป็นจริงจะไม่อาจแยกออกจากกันได้อีกต่อไป เพราะทุกแบรนด์ ทุกธุรกิจจะต้อง เปิดรับข้อมูลของผู้ใช้งานตลอดเวลา ผ่านแพลตฟอร์มต่างๆ รวมทั้งการเปลี่ยนมาเน้น ให้บริการและสร้างประสบการณ์แก่ลูกค้าเป็นหลัก ซึ่งจะกลายเป็นเรื่องปกติที่ทุกธุรกิจต้องก้าวไปให้ถึงก่อนจะถูกบังคับให้เปลี่ยน เพราะไม่อย่างนั้นก็อาจถูกกลืนหายไปจากวงการได้ง่ายๆ 


AI หรือปัญญาประดิษฐ์ จะมาช่วยและทดแทนขีดจำกัดของมนุษย์

แม้ว่าหุ่นยนต์ 1 ตัว จะถูกนำเข้ามาในระบบแทนที่แรงงานคน 1,000 คน และจะทำให้งานหายไป 1.9 - 3.4 ล้านงาน แต่คนทำงานในปี 2020 จะไม่ต้องกังวลเรื่องจบไม่ตรงสาย ทำงานไม่ตรงวุฒิอีกต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วองค์กรจะวัดที่ความสามารถและความยืดหยุ่นในการทำงานของแต่ละคนล้วนๆ ทำให้เราทุกคนต้องหาวิธีเพิ่มทักษะใหม่ๆ ให้ตัวเองแตกต่างจากหุ่นยนต์ด้วยเช่นกัน โดยมีครูและห้องเรียนอย่าง คอร์สเรียนออนไลน์ มาช่วยสร้างวิธีการเรียนแบบใหม่ ที่ทำให้เราเหมือนได้เรียนรู้กับครูชั้นนำของโลกในราคาที่จ่ายไหว และเรียนได้ทุกที่ทุกเวลา เป็นการตอบสนองตลาดแรงงานที่มีความต้องการเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ได้อย่างดี 

เพราะร่างกายของคนเรายังเป็นรองหุ่นยนต์ในเรื่องสภาพร่างกายที่ไม่ต้องกิน ไม่ต้องพักเหนื่อย ไม่ต้องป่วย ไม่ต้องหาหมอ แต่วงการแพทย์และสาธารณสุขได้กาปฏิทินไว้แล้วว่าปี 2020 จะเป็นจุดเริ่มการสิ้นสุดของโรคร้ายต่างๆ ด้วยเทคโนโลยีการติดตามข้อมูลของร่างกายแบบเรียลไทม์ ค่าตัวเลขต่างๆ ของร่างกายเราจะถูกนำมาใช้ออกแบบวิธีการดูแลรักษาที่เฉพาะเจาะจงสำหรับแต่ละคนเพื่อผลลัพธ์ที่ถูกต้องที่สุด

นอกจากนี้ เทคโนโลยี 3D Bioprint สามารถสร้างอวัยวะใหม่ขึ้นมาทดแทนของเดิมที่เสียหายจากอุบัติเหตุหรือเสื่อมไปตามอายุ ด้วยเทคโนโลยี 3D Bioprint ที่สามารถสร้างเนื้อเยื่อหรืออวัยวะใหม่ที่ทำงานเลียนแบบเซลล์จริงๆ ขึ้นมาทดแทนของเดิม ด้วยชั้นเซลล์ที่ซ้อนทับกันหนาถึง 20 ชั้น โดยปัจจุบันสามารถสร้างปอดขึ้นได้แล้ว และกำลังจะทดลองเพาะตับมนุษย์ได้สำเร็จในปี 2020


ความเคลื่อนไหวในเมืองใหญ่ ประชากรเพิ่ม คนโสดก็เพิ่ม

องค์การสหประชาชาติคาดการณ์ว่า ในปี ค.ศ.2020 ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองทั่วโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 60% เช่นเดียวกับในกรุงเทพฯ ซึ่งเป็นศูนย์กลางด้านเศรษฐกิจ รวมทั้งพื้นที่เล็กๆ อื่นๆ รอบข้าง แต่มีสาธารณูปโภคครบครัน และใกล้กับระบบขนส่งสาธารณะได้รับความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะตามแนวระบบรถไฟฟ้าที่จะครอบคลุมพื้นที่ในกรุงเทพฯ กว้างขึ้น จะนำคนจากชานเมืองเข้าสู่ใจกลางเมืองได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว ซึ่งตามแผนแล้ว ในปี 2020 รถไฟฟ้าจะสร้างเสร็จพร้อมกันหลายสาย จากปัจจุบันที่มีเพียง 5 สาย เพิ่มเป็น 10 สาย ระยะทางรวม 284 กิโลเมตร

และในปี 2020 กรุงเทพมหานคร จะมีประชากรมากถึง 30 ล้านคน โดยในจำนวนนั้นจะมีสาวโสดในประเทศไทยที่ต้องใช้ชีวิตอยู่คนเดียวมากถึง 5.6 ล้านคน เพราะไลฟต์สไตล์ของคนเมืองที่เอื้อให้แต่งงานช้าลง และในอนาคตก็มีแนวโน้มว่าจะครองตัวเป็นโสดมากขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

จากผลสำรวจของ MeetNLunch บริษัทจัดหาคู่ของไทยซึ่งวิจัยเจาะลึกกลุ่มตัวอย่างกว่า 3,000 คนจาก ไทย สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง พบว่าคนโสดในประเทศไทยใช้เวลา ‘คบหาดูใจ’ ก่อนตัดสินใจคบกันเป็นแฟนอย่างจริงจังนานที่สุด ผู้หญิงไทยกว่า 43% เดทมากกว่า 7 ครั้ง ก่อนจะตกลงปลงใจยอมเป็นแฟนกับอีกฝ่าย แถมยังมีแนวโน้มตัดสินใจแต่งงานช้าลงถึง 45%
 

พลังงานสะอาด เข้ามาทดแทนพลังงานเชื้อเพลิง

เพราะปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม สภาพภูมิอากาศที่แปรปรวน และมลภาวะทางอากาศ ที่เป็นปัญหาหนักของแทบทุกเมืองใหญ่บนโลกอย่างที่เรารู้ในปัจจุบัน นอกจากการผลักดันการพัฒนาด้านขนส่งสาธารณะที่ทุกประเทศทั่วโลกตื่นตัวกันแล้ว ยังมี การสนับสนุนให้ใช้พลังงานสะอาด โดยเฉพาะพลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด 

โดยคาดการณ์กันว่าในอีก 2 ปีข้างหน้าจะมียานพาหนะไฟฟ้าวางจำหน่ายกว่า 40 ล้านคันทั่วโลก แทนที่ยานพาหนะที่ใช้น้ำมันซึ่งมีข้อเสียมากกว่าข้อดี และในประเทศไทยจะมีสถานีชาร์จไฟฟ้ามากกว่า 1,000 สถานี เท่ากับจำนวนสถานีแบบ Ultra-Fast ของทั้งยุโรปรวมกัน


ทำงานได้ทุกที่ ทุกเวลา

ในอีก 2 ปีข้างหน้า รูปแบบการทำงานของผู้คนทั่วโลกจะพึ่งพาระบบที่อิงกับศูนย์กลางน้อยลง จะมีการปรับเปลี่ยนสถานที่ทำงานไปตามเมืองต่างๆ ได้อย่างอิสระและยืดหยุ่นกว่าที่เป็นมา แนวโน้มการทำงานที่บ้านจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีประสิทธิภาพ จากที่เราทำงานร่วมกันได้แบบเรียลไทม์ผ่าน โปรแกรม Google Doc ประชุมและทวงงานผ่านสื่ออย่าง ไลน์หรือสไกป์ 

รวมไปถึงรูปแบบและขนาดของออฟฟิศยุคใหม่จะไซส์เล็ก คล่องตัวขึ้น เนื่องมาจากวิธีการทำงานซึ่งถูกกำหนดด้วยไลฟ์สไตล์ของมิลเลนเนียลและเจน Z (คนที่เกิดในช่วงปี ค.ศ. 1980-2009) ซึ่งปัจจุบันอายุระหว่าง 9-38 ปี ซึ่งให้ความสำคัญกับความยืดหยุ่นและอิสระ ไม่แพ้เงินเดือนและสวัสดิการ

ต่อไปการเข้ามาของระบบความจริงเสมือน (Virtual Reality) ที่จำลองภาพบรรยากาศ สร้างสัมผัสต่างๆ ได้เสมือนนั่งอยู่ตรงนั้นจริงๆ ก็จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตเรามากกว่าแค่ในวงการเกม การติดต่อสื่อสารเป็นไปอย่างสมจริง ไร้ข้อจำกัดแม้ต่างอยู่ไกลกันเกินครึ่งฟ้า


แต่ไม่ว่าอนาคตจะเข้ามาในรูปแบบใด คนที่ปรับเปลี่ยนตัวเองเข้ากับสิ่งใหม่ๆ ได้ก่อนถือว่าได้เปรียบเสมอ 
 

ที่มา :  thematter.co

 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด