"วิศวกรรมสาขาใหม่ เรียนสร้างงาน สร้างอนาคต ในยุคเศรษฐกิจดิจิตอล" รีวิวสาขาวิศวกรรมสารสนเทศและการสื่อสาร : U-Review
15 ธ.ค. 58 15:00 น.
เป็นที่ตระหนักรู้กันอยู่แล้วว่าเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร ได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในการดำเนินชีวิตของเราในทุกๆ วัน เราใช้โทรศัพท์มือถือ และแอพพลิเคชั่นในการดำเนินชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นนอนไปจนกระทั่งเข้านอน แน่นอนว่าสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากขาดผู้ที่จะมาพัฒนา และต่อยอดเทคโนโลยีเหล่านี้ให้ก้าวหน้ามากยิ่งขึ้น ใกล้ชิดกับผู้ใช้งานมากยิ่งขึ้น และที่สำคัญ สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างตรงจุด
ด้วยเหตุนี้เองมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในด้านวิศวกรรมหลักหลายสาขา โดยเฉพาะวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับการสื่อสาร คอมพิวเตอร์ และ IT จึงเห็นความสำคัญในการที่จะสร้างเยาวชนรุ่นใหม่ให้มีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ให้สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาประเทศชาติ ประจวบเหมาะกับเมื่อปีที่แล้วทางรัฐบาลก็มีนโยบาย เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิตอล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหานคร ซึ่งเห็นว่าเป็นโอกาสดีที่จะสร้างหลักสูตรวิศวกรรมศาสตรบัณฑิตขึ้นมาใหม่ นั่นคือสาขาวิศวกรรมสารสนเทศ และการสื่อสารสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอล รศ. ดร.อธิคม ฤกษบุตร รองอธิการบดี และคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร ยังกล่าวถึงจุดประสงค์ของหลักสูตรอีกด้วยว่า “ เราจะให้เขาหางานได้ สร้างงานได้ และพัฒนาประเทศได้ ที่สำคัญผมเชื่อว่าหลักสูตรตัวนี้ เขาจะไม่เพียงสร้างงานได้ หางานได้ แต่เขาจะสามารถทำงานในระดับประเทศ และในระดับสากลได้”
สาขาวิศวกรรมสารสนเทศ และการสื่อสารสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอลมีเอกลักษณ์ชัดเจน คือ ความคิดสร้างสรรค์ในการประยุกต์ใช้งานคอมพิวเตอร์ เทคโนโลยีสารสนเทศ แอพพลิเคชั่น และ IT ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ต้องการสร้างเด็กให้เป็นเป็ด คือมีความรู้ที่กว้าง แต่ต้องโฟกัสเรื่องของการพัฒนา IT อย่างเต็มที่ ฉะนั้นนอกจากนักศึกษาจะต้องเรียนในเรื่องของการสื่อสารโทรคมนาคม ต้องมีความรู้โดยเฉพาะเรื่องความปลอดภัยในการใช้เครือข่าย มีความรู้ด้าน IT และมีความรู้ด้านแอพพลิเคชั่นแล้ว นักศึกษาจะต้องได้เรียนเรื่องของเศรษฐศาสตร์ การสร้างมูลค่า เรียนเรื่องวิธีคิด และที่สำคัญ เรื่องของการออกแบบนวัตกรรม ที่จะสอนให้นักศึกษาคิดเป็น คิดนอกกรอบ คิดได้อย่างหลากหลาย ต้องคิดให้แปลกประหลาด แต่มีอิมแพค นักศึกษาจากสาขานี้จึงสามารถทำงานได้ครอบคลุมทั้งในงานวิศวกรรมดั้งเดิม อย่างวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ บริษัทคอมพิวเตอร์ บริษัทเทคโนโลยี บริษัทไอที ไปจนถึงการทำงานในบริษัทที่เป็น startup ที่มีเทคโนโลยีสารสนเทศ และแอพพลิเคชั่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ตลอดจนการสร้างงานด้วยตนเอง “ ฉะนั้นเราสร้างเป็ด แต่เป็นเป็ดที่ติดอาวุธ สามารถพัฒนาตนเองให้อยู่ในด้านไหนก็ได้ ใน sector ไหนก็ได้ในภาคธุรกิจ แต่สุดท้ายเขาจะไปอยู่ตรงไหนก็ขึ้นอยู่กับความชอบของเขา” ดร.อธิคม กล่าว
ในส่วนของการเรียนการสอนนั้นช่วงปีแรกๆ นักศึกษาจะได้เรียนในวิชาคณิตศาสตร์ และฟิสิกส์ เพื่อสร้างพื้นฐานให้แข็งแกร่ง และเสริมด้วยทักษะทางภาษาอังกฤษ จากนั้นถึงจะได้เรียนในส่วนของศาสตร์ทางด้านไฟฟ้า เพื่อให้มีความรู้ในเรื่องของสื่อสารโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์ แต่ศาสตร์ทั้งหมดทั้งมวลที่นักศึกษาจะได้เรียนนั้นจะเป็นการปรับปรุงใหม่สำหรับวิศวกรรุ่นใหม่ จนกระทั่งเมื่อนักศึกษา ศึกษาอยู่ในชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4 ถึงจะเป็นการเรียนเข้าเรื่องเกี่ยวกับเศรษฐกิจดิจิตอล เช่น การเรียนเกี่ยวกับการประยุกต์ใช้แอพพลิเคชั่นในธุรกิจ และบริการ
ทางสาขาวิศวกรรมสารสนเทศ และการสื่อสารสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอล ยึดถือแนวทางในการเรียนการสอนที่ว่า เราจะทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย โดยการใช้ตัวช่วยอย่างซอฟต์แวร์แอพพลิเคชั่น หรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น เมื่อนักศึกษาต้องเรียนคณิตศาสตร์
และเจอกับแคลคูลัสที่ยากๆ สิ่งที่ทางสาขาจะสอนคือ นักศึกษาจะสามารถเอาซอฟต์แวร์ตัวไหนเข้ามาช่วย เป็นต้น โดยในทุกวิชาจะเน้นเรื่องการนำซอฟต์แวร์มาใช้งาน เน้นให้มีทักษะการปฏิบัติการ จึงจะเห็นได้ว่ามีรายวิชาที่เป็นภาคปฏิบัติการ และการทำแลปอยู่เยอะมาก โดยเนื้อหาในการทำแลปเองก็จะพัฒนาไปตามบริบทของปัจจุบันด้วย นอกจากนี้ทางสาขาก็จะมีการเรียนรู้ ปรับเปลี่ยนวิธีการสอน และมีรายวิชานำร่องที่เรียนแบบ interactive ซึ่งเน้นการมีส่วนร่วมในห้องเรียน และการวัดผลที่เป็นรูปแบบของการให้นักศึกษาได้แก้ไขปัญหาในห้องเรียนด้วย
ด้วยความที่หลักสูตรถูกออกแบบมาให้นักศึกษา ต้องเรียนในวิชาที่เป็นภาคปฏิบัติการและการทำแลปเป็นจำนวนมาก สิ่งที่ทางคณะจะขาดไม่ได้เลย คือห้องปฏิบัติการ เช่น
ห้องปฏิบัติการสารสนเทศและการสื่อสาร
เป็นห้องปฏิบัติการที่ประกอบด้วยอุปกรณ์โทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ เช่นโทรศัพท์เคลื่อนที่ อุปกรณ์สื่อสาร เครือข่าย LAN อุปกรณ์สื่อสารเครือข่ายไร้สาย Wi-Fi RFID Sensors networks เป็นต้น ห้องนี้จะใช้ในการจำลองระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์และโทรคมนาคม การทดลองระบบเครือข่ายโทรคมนาคมพื้นฐาน และการทดลองระบบเครือข่ายคอมพิวเตอร์
ห้องปฏิบัติการระบบโทรคมนาคม (Telecommunication System Laboratory)
ใช้สำหรับการทดลองด้านการวิเคราะห์สัญญาณ และระบบการสื่อสารข้อมูลพื้นฐาน การรับส่งข้อมูลทั้งแบบอนาลอกและแบบดิจิตอล ภายในห้องปฏิบัติการประกอบด้วย เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ทันสมัย มากกว่า 30 เครื่อง ทุกเครื่องเชื่อมต่อกันผ่านระบบเครือข่าย
ท้องถิ่น และเครื่องมือทันสมัยอีกมากมาย เช่น เครื่องวิเคราะห์ระบบสื่อสารเคลื่อนที่ระบบดิจิตอล Mobile Station Test Set เป็นต้น
ห้องวิจัยการสื่อสารเชิงแสง (Optical Communication Research Lab)
เป็นห้องวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีระบบสื่อสารด้วยเส้นใยแก้วและอุปกรณ์ทางด้านการสื่อสารเชิงแสง และยังใช้เป็นห้องปฏิบัติการสำหรับนักศึกษาระดับปริญญาตรีชั้นปีสุดท้าย และนักศึกษาปริญญาโทที่สนใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีเส้นใยแก้วและระบบสื่อสารด้วยเส้นใยแก้วนำแสงด้วย
นอกจากนี้ยังมีห้องปฏิบัติการที่ใช้ในการเรียนการสอนเกี่ยวกับการสร้างโดรน
ซึ่งนักศึกษาไม่เพียงแต่จะสร้างฮาร์ดแวร์ที่เป็นตัวโดรน และอุปกรณ์บังคับเท่านั้น แต่ยังสามารถสร้างซอฟต์แวร์ในการบังคับโดรนได้อีกด้วย การเรียนการสอนในหลักสูตรนี้จึงเป็นการเรียนที่ควบคู่กันไปทั้งด้านซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์
ในส่วนของการฝึกงานนักศึกษาจะต้องมีชั่วโมงฝึกงานช่วงปิดเทอมของปี 3 และการฝึกงานแบบสหกิจศึกษาอีก 1 เทอม โดยสาขามีความร่วมมือกับบริษัทซึ่งส่วนใหญ่เป็นบริษัทด้านโทรคมนาคม และเทคโนโลยีการสื่อสาร เช่น tot, cat เป็นต้น และยังมีบริษัทด้านเทคโนโลยีโทรคมนาคมและการสื่อสารขนาดกลาง และขนาดเล็กอีกหลายแห่ง
จากทั้งหมดที่กล่าวมาก็พอจะเป็นข้อพิสูจน์ได้แล้วว่า สาขาวิศวกรรมสารสนเทศ และการสื่อสารสำหรับเศรษฐกิจดิจิตอล มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร เป็นสาขาเกิดใหม่ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถสร้างงานได้ด้วยตนเอง และนักศึกษาที่จบจากสาขานี้ ยังจะเป็นบุคลากรที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มีความรู้ทางด้านวิศวกรรม มีความสามารถที่จะพัฒนานวัตกรรมอันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ สามารถที่จะขับเคลื่อนวงการเทคโนโลยี และไอทีของประเทศไทยไปสู่อนาคตได้อีกด้วย
เรื่องโดย ธนารักษ์ คำภีระ ทีมวิชาการ AdmissionPremium.com
ภาพโดย ทีม U-Review AdmissionPremium.com