หน้าแรก เรียนการบิน อาชีพในอนาคต

เส้นทางสู่อาชีพ "เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ" ทำอย่างไร?

วันที่เวลาโพส 20 เมษายน 61 11:53 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium

เส้นทางสู่อาชีพ "เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ"

น้องๆ ที่สนใจอาชีพด้านการบิน อย่าง เจ้าหน้าที่ควบคุมจราจรทางอากาศ (หรือ Air Traffic Controller หรือ ATC) สามารถยื่นสมัครสอบกับบริษัทวิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท. หรือ AEROTHAI) ซึ่งเป็นหน่วยงานพลเรือนรุปแบบรัฐวิสาหกิจ ในสังกัดกระทรวงคมนาคม ซึ่งทำหน้าที่ดูแลด้านการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศของไทย ควบคู่ไปกับหน่วยงานควบคุมจราจรทางอากาศ


คุณสมบัติพื้นฐานสำหรับผู้สมัครตำแหน่ง ATC

1 อายุไม่เกิน 27 ปี
2 จบปริญญาตรีสาขาใดก็ได้ 
(จะสายวิทย์สายศิลป์ ทุกคนก็สามารถสมัครได้)
3 มีผลคะแนน TOEIC ไม่ต่ำกว่า 650 คะแนน (อายุของผลการสอบไม่เกิน 6 เดือนก่อนวันสมัคร)
4 สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานได้
5 สามารถทำงานแบบเข้ากะและทำงานต่างจังหวัดได้ 

โดยปกติแล้วทางบริษัทจะเปิดรับสมัครทุกปี อาจจะมีบางปีที่เว้นช่วงไปบ้าง อย่างเช่นปีนี้ที่รับสมัครไปเมื่อตอนต้นปี เว้นช่วงกว่า 2 ปี แต่ยังไงก็ตาม บริษัทยังต้องการพนักงานเพิ่มอยู่ตลอด เพราะอุตสาหกรรมการบินอย่างที่เราทราบกันดีว่าเติบโตเร็วมากและมีการขยายงานอยู่ตลอดเวลา น้องๆ สามารถเตรียมตัวให้พร้อมไว้ได้เสมอ หลังจากสมัครเรียบร้อย น้องๆ ก็ต้องเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการสอบต่อไป

www.flickr.com


ขั้นตอนการสอบ ATC 

1. การสอบข้อเขียน
ประกอบด้วยวิชาความรู้พื้นฐานคณิตศาสตร์ (ระดับม. ปลาย) ความรู้ความสามารถทั่วไป (Aptitude Test) และความรู้พื้นฐานทั่วไป (ภูมิศาสตร์กายภาพ/ความรู้ทั่วไป/ความรู้เบื้องต้นด้านคอมพิวเตอร์) โดยทั้งหมดจะให้เวลา 3 ชม. ข้อสอบเป็นแบบปรนัย 

2. ทดสอบทักษะในการใช้แป้นคอมพิวเตอร์ (keyboard)
หรือสอบพิมพ์ดีด เกณฑ์คือน้องๆ ต้องสามารถพิมพ์ภาษาอังกฤษได้ไม่ต่ำกว่า 25 คำต่อนาที น้องๆ ที่อยากฝึกซ้อมมากขึ้นก็อาจจะลองหาโปรแกรมสำหรับฝึกพิมพ์มาลองใช้ดูได้ มีการจับเวลาให้ด้วย เสริมความมั่นใจไปอีกขั้นนึง

3. สอบสัมภาษณ์ภาษาอังกฤษ
ลักษณะการสอบจะเทียบเคียงกับการสอบวัดระดับมาตรฐานการใช้ภาษาอังกฤษที่กำหนดของ ICAO ซึ่ง ATC และนักบินจะต้องผ่านการทดสอบนี้ทุกคน และอย่างน้อยต้องได้ในระดับ 4 (Operation Level/Level 4) ในส่วนนี้ให้น้องๆ เตรียมแนะนำตัวเองและฝึกซ้อมถามตอบไว้คร่าวๆ ว่า ทำไมถึงรู้จักหรือสนใจอาชีพนี้ มีความสนใจเรื่องไหนเป็นพิเศษ ปกติแล้วเวลาว่างชอบทำอะไร มีงานอดิเรกอะไร

สำเนียงภาษาอังกฤษของน้องๆ ไม่จำเป็นต้องเป๊เหมือนเจ้าของภาษา แต่สิ่งที่จำเป็นและอยากเน้นคือการออกเสียงให้ชัดเจน ตัวสะกดและอักขระให้ถูกต้อง นั่นคือสิ่งที่จะทำให้คนฟังต่างชาติเข้าใจเราได้ ไม่ต้องพูดเร็วหรือรีบพูดจนเกินไป พูดให้คนฟังจับใจความที่เราพูดทัน เรียบเรียงประโยคให้ถูกต้อง (ประโยคง่ายๆ ไม่ต้องยาวหรือซับซ้อน) สติและการเตรียมฝึกซ้อมที่ดีจึงสำคัญมาก

4. การตรวจร่างกายและจิตวิทยาการบิน
บริษัทจะจัดตารางให้น้องๆ เข้ารับการตรวจร่างกายและทำข้อสอบจิตวิทยาการบินกับคุณหมอและนักจิตวิทยาที่สถาบันเวชศาสตร์การบินของกองทัพอากาศ ซึ่งในขั้นตอนนี้น้องๆ ต้องดูแลค่าใช้จ่ายในการตรวจเองนะค้า เก็บสะสมสตางค์หยอดกระปุกไว้ล่วงหน้าได้

5. สอบสัมภาษณ์ภาษาไทย
ในขั้นตอนนี้จะเป็นการสัมภาษณ์โดยกรรมการและผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ของบริษัท พูดจาตอบคำถามให้ชัดเจนฉาดฉาน มั่นใจ (ในระกับที่พอเหมาะพอดี) และเป็นตัวของตัวเองดีที่สุด

towardsmaturity.org

เมื่อเข้ามาเป็นพนักงานของวิทยุการบินแล้ว น้องจะอยู่ในตำแหน่ง “นักเรียนฝึกหัดควบคุมจราจรทางอากาศ” น้องๆ จะต้องเรียนคอร์สเร่งรัดที่สอนโดยบริษัทเป็นเวลา 3 เดือน จากนั้นบริษัทจะส่งต่อให้สถาบันการบินพลเรือต่อไปอีกประมาณ 9 เดือน ระหว่างนี้บริษัทจะดูแล ให้เงินเดือนละ 19,250 บาท (อ้างอิงจากประกาศรับสมัคร มี.ค.60)

สำหรับน้องๆ ที่จบปริญญาตรีจากสถาบันการบินพลเรือนมาโดยตรงในสาขาจัดการจราจรทางอากาศมาตั้งแต่แรกแล้ว หลังจากเรียนที่บริษัท 3 เดือน น้องๆ ก็จะได้ไปทำงานตามที่ปฏิบัติงานจริงล่วงหน้าเพื่อนๆ คนอื่นที่เข้ามาพร้อมกันไป 9 เดือนโดยประมาณ

สำหรับสถานที่ทำงานหลังจากน้องเรียนจบหลักสูตรที่บริษัทกำหนดแล้ว ก็จะขึ้นอยู่กับนโยบายบริษัทและอัตรากำลังที่ต้องการในช่วงนั้นๆ ว่าจะส่งน้องๆ ไปประจำที่หน่วยไหน สำหรับในส่วนกลางก็จะมีที่สำนักงานใหญ่ ทุ่งมหาเมฆ สุวรรณภูมิ ดอนเมือง ในส่วนภูมิภาคจะมีศูนย์ควบคุมการบินหลักๆ อยู่ที่ เชียงใหม่ พิษณุโลก อุบลราชธานี อุดรธานี หัวหิน ภูเก็ต สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ 

หลังจากน้องเริ่มทำงานที่สถานที่ควบคุมจราจรทางอากาศจริง เรียน ฝึก และสอบผ่านตามเกณฑ์ที่สำนักงานการบินพลเรือนได้กำหนดไว้ บริษัทจะปรับสตางค์ค่าขนมเพิ่มครั้งใหญ่ให้เรา (นอกเหนือไปจากการปรับขึ้นประจำปีละสองครั้งตามการประเมินผล) พร้อมแถมค่าใบอนุญาตและค่าวิชาชีพเพิ่มเข้าไปอีกในแต่ละเดือนด้วย



ที่มา : 
engineer-tutor.com 
www.businessinsider.com

 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด