หน้าแรก เรียนการบิน รุ่นพี่

"ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน" อาชีพขาดแคลนไม่แพ้นักบิน เรียนอะไร? ที่ไหน? อนาคตดีอย่างไร?

วันที่เวลาโพส 02 ธันวาคม 60 12:04 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium
เมื่ออุตสาหกรรมการบินทั่วโลกเติบโตอย่างก้าวกระโดด ความต้องการบุคลากรในสายงานที่เกี่ยวข้องจึงเพิ่มขึ้นตามไปด้วย และไม่เพียงแค่อาชีพ “นักบิน” เท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาชีพสนับสนุนอื่นๆ เช่น เจ้าหน้าที่บังคับการบิน พนักงานอำนวยการบิน (Flight Operation) และ ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ด้วย

“ช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน” ถือเป็นอีกหนึ่งสายงานที่กำลังเข้าสู่สภาวะขาดแคลน เช่นเดียวกันกับนักบิน โดยบริษัทโบอิ้งและแอร์บัส บริษัทผลิตเครื่องบินรายใหญ่ของโลกได้ประมาณการความต้องการบุคลากรในสายงานดังกล่าวว่า ในอีก 20 ปีทั่วโลกจะมีความต้องการช่างเทคนิคด้านอากาศยานอีกกว่า 600,000 คน โดยเป็นภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกแห่งเดียวมีสัดส่วนความต้องการเกือบ 40%

สำหรับน้องๆ คนไหนที่สนใจสายงานทางด้านนี้ และอยากรู้ว่า ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานหรือช่างซ่อมเครื่องบิน (Aviation/Aircraft Maintenance Technician – AMT) ทำงานกันอย่างไร แล้วแต่ละคนที่มาทำอาชีพนี้ ต้องเรียนอะไรกันบ้าง บทความนี้มีคำตอบให้กับน้องๆ ทุกคน 

 
ช่างซ่อมอากาศยาน หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ช่าง Airframe (Airframe Technician) มีหน้าที่ดูแล ตรวจเช็ค และซ่อมบำรุงโครงสร้างและลำตัวเครื่องบิน รวมถึงระบบของเครื่องบินและเครื่องยนต์ของอากาศยานประเภทต่างๆ โดย งานของช่าง Airframe จะประกอบไปด้วย 

การตรวจหาสาเหตุและเปลี่ยนอุปกรณ์อากาศยานที่เสีย ชำรุด หรือหมดอายุใช้งาน โดยเน้นไปในระบบและอุปกรณ์ประเภทที่เป็น mechanical components เช่น ล้อ เบรค ปีกเครื่องบิน ประตูและล็อค ปั๊มและวาล์ว ตัวกำเนิดไฟฟ้า มอเตอร์ เครื่องยนต์

รวมถึง กลไกต่างๆ ในระบบปรับอากาศ ระบบและอุปกรณ์ไฟฟ้าในเครื่องบิน อุปกรณ์ตรวจจับและป้องกันอัคคีภัย อุปกรณ์ควบคุมการบิน ระบบเชื้อเพลิง ระบบไฮดรอลิก ระบบป้องกันการเกิดน้ำแข็งในอากาศยาน ระบบลงจอด ระบบปรับสภาพความดันในอากาศยาน เป็นต้น ซึ่งบางครั้งอาจจะต้องทำงานร่วมกับช่าง Avionics ในส่วนที่เกี่ยวกับระบบไฟฟ้าและอิเล็กโทรนิกส์


ต้องเรียนอะไร ที่ไหนเปิดสอนบ้าง?

ในปัจจุบันมีสถาบันที่เปิดสอนหลักสูตรซ่อมบำรุงอากาศยาน และวิศวกรรมการบินอยู่จำวน 7 แห่ง สามารถผลิตบุคลากรได้ประมาณ 300-400 คนต่อปี ในขณะที่ความต้องการของตลาดงาน ต้องการมากว่า 400 คนต่อปี และในประเทศไทยมีจำนวนช่างซ่อมบำรุงอากาศยานอยู่ราว 8,000-9,000 คน (เป็นช่างของการบินไทยประมาณ 4,500 คน) ในจำนวนนี้มีเพียง 10% ที่ได้รับใบอนุญาตที่เป็นสากล

โดยช่างอากาศยานหรือช่างซ่อมบำรุงอากาศยาน ส่วนมากจะเป็นหลักสูตร ปวส. หรือ อนุปริญญา ที่เรียน 2 ปี รายวิชาที่เรียนจะเป็นความรู้พื้นฐานระบบต่างๆ ของเครื่องบิน ไม่เน้นการคำนวนและการเรียนออกแบบ ไม่มีรายวิชาสามัญ หลักสูตรจะเน้นเรื่องภาคปฎิบัติค่อนข้างมาก เช่น เช้าเข้าเรียน Lecture บ่ายฝึกงานใน shop เกือบตลอดหลักสูตร ที่สถาบันการบินพลเรือนการสอนในห้องเรียนจะเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด เพราะจบมาการทำงานต้องใช้ภาษาอังกฤษเป็นอย่างมาก ตำราซ่อมบำรุงเครื่องบินทุกอย่างเป็นภาษาอังกฤษทั้งหมด ซึ่งรูปแบบการสอนนี้ก็ขึ้นอยู่กับแต่ละสถาบันด้วย 

ตัวอย่างหลักสูตรของ สถาบันการบินแห่งมหาวิทยาลัยราชมงคลกรุงเทพ จะใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลักในการสอน ใช้เวลาเรียนทั้งสิ้น 2,400 ชั่วโมง แบ่งเป็นภาคทฤษฎี 1,200 ชั่วโมง และภาคปฏิบัติ 1,200 ชั่วโมง รวมระยะเวลา 2 ปี ค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 490,000 บาท ซึ่งถือเป็นค่าใช้จ่ายในการศึกษาที่ต่ำกว่าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากค่าใช้จ่ายสำหรับการเรียนหลักสูตรดังกล่าวในมาเลเซียประมาณ 800,000 บาท และหากเรียนในประเทศจีนจะเสียค่าใช้จ่ายราว 700,000 บาท ไม่รวมค่าครองชีพ

และเมื่อเรียนจบจะต้องไปทำงานจริงเก็บประสบการณ์อีก 2 ปี จึงจะไปสอบก่อนจะกลับมาสอบขอใบอนุญาตของ EASA ได้ โดยรวมแล้วใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี ถ้านับจาก ม.6 ก็เทียบเท่ากับจบปริญญาตรี แต่ไม่ได้ปริญญา จะได้เป็นใบอนุญาตแทน ซึ่งการทำงานตรงนี้ก็เหมือนกับหมอที่ต้องมีใบประกอบโรคศิลป์


อนาคตทางสายอาชีพเป็นอย่างไร?

ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานส่วนใหญ่จะจบการศึกษาจากหลักสูตร Aircraft Maintenance ซึ่งมีเปิดสอนโดย สถาบันการบินพลเรือน กรมช่างอากาศ กองบัญชาการสนับสนุนทหารอากาศ กองทัพอากาศ และสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ และเมื่อเข้ามาในสายงานของการซ่อมบำรุงอากาศยานแล้ว ความใฝ่ฝันและเป้าหมายการทำงานต่อมาของช่างแทบทุกคนคือ การสอบ License เพื่อเป็น วิศวกรซ่อมบำรุงอากาศยาน (Licensed Aircraft Maintenance Engineer) หรือเรียกง่ายๆ ว่า ช่าง License 

ช่างซ่อมบำรุงอากาศยานถือเป็นตำแหน่งงานที่เปิดรับมากที่สุด เพราะสายการบินต้องการกำลังพลจำนวนมากในการซ่อมเครื่องบิน งานรับเครื่องส่งเครื่อง และ งานบริการ service ต่างๆ เมื่อสายการบินเปิดรับช่างซ่อมเครื่องบิน มักจะระบุคุณสมบัติผู้สมัครที่จบ Aircraft Maintenance หรือ Aero-Engineering บางครั้งระบุวุฒิขั้นต่ำ ปวส. เพราะฉะนั้นถ้าเรียนช่างอากาศยานหรือวิศวการบินก็สมัครตำแหน่งช่างซ่อมเครื่องบินได้เหมือนกัน

ซึ่งอุตสาหกรรมนี้การจบปริญญาอาจไม่ใช่ตัววัดในการเข้าทำงาน แต่เป็น ใบอนุญาต (License) ในต่างประเทศการรับช่างซ่อมจะดูจากว่าเรามีใบรับรองหรือไม่ และจะพิจารณาในส่วนนี้ร่วมกับประสบการณ์การทำงาน และในขณะที่ทำงานรับเงินเดือนอยู่ในอุตสาหกรรมการบินแล้วยังไม่ได้ใบอนุญาต จะได้รับค่าตอบแทนประมาณ 20,000-30,000 บาทต่อเดือน จนสอบได้ใบอนุญาต เมื่อสอบได้ก็จะมีค่าตัวที่สูงขึ้นอีกประมาณ 2 เท่าตัว



ที่มา:
thaipublica.org
www.taithailand.com
 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด