หน้าแรก IT ข่าว/บทความไอที

วิธีเช็ค Fake News เบื้องต้น

วันที่เวลาโพส 30 มกราคม 63 21:16 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium
"Fake News" หรือ "ข่าวปลอม" ไม่ใช่เรื่องใหม่ในสังคมไทยและสังคมโลก แต่ด้วยเทคโนโลยี รวมทั้งสื่อใหม่อย่าง Social Media ที่เกิดขึ้นมากมายหลากหลายประเภท ทำให้ "ข่าวปลอม" สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วและเป็นวงกว้าง มีทั้งเรื่องดีและไม่ดี เรื่องจริง เรื่องเสริมเติมดราม่าทั่วไป รวมไปถึงข่าวลือที่เหมือนจะจริง จนหลายครั้งบ่อยๆ เข้า ก็ยากที่จะแยกแยะหรือตรวจสอบได้ทันที

ดังนั้นบทความนี้ Admission Premium จึงมีคำแนะนำที่น่าจะเป็นประโยชน์กับน้องๆ และเพื่อนๆ ทุกคน ในการตรวจสอบข่าวปลอม หรือ การเช็ค Fake News เบื้องต้น มาดูกันดีกว่าว่า ข่าวแบบไหนคือข่าวปลอม หรือลักษณะข่าว(ที่น่าจะ)ปลอมเป็นยังไงบ้าง มาหัดสังเกตไปพร้อมๆ กันนะ


1. ที่มา / แหล่งอ้างอิง ใครเขียน ใครเผยแพร่ น่าเชื่อถือหรือไม่?
สิ่งที่ที่เราต้องดูเลยก็คือ ข่าวนี้คนเขียนคือใคร เผยแพร่ทางไหน มีความรู้ความเชี่ยวชาญหรือความเกี่ยวข้องในด้านนั้นจริงหรือไม่ หรือเนื้อหาข่าวนั้นอ้างอิงจากเว็บหรือแหล่งที่น่าเชื่อถือหรือไม่ เพราะมีเว็บไซต์ที่ข้อมูลไม่น่าเชื่อถืออยู่มากมาย โดยเราสามารถดูข่าวจากหลายๆช่องทางประกอบกันได้ หากเป็นเรื่องที่มาจากองค์กรที่ชื่อไม่คุ้นเคย ควรตรวจสอบเพื่อความแน่ใจอีกครั้งหนึ่ง

2. หัวข้อข่าว / คำที่ใช้ ใส่อารมณ์เกินจริงเน้น "เรียกร้องความสนใจ"
 ข่าวปลอมมักมีการพาดหัวที่สะดุดตา อ่านแล้วให้ความรู้สึกใส่อารมณ์เวอร์เกินจริง เน้นใช้ตัวหนาและเครื่องหมายตกใจ! (อัศเจรีย์) เพื่อเรียกร้องความสนใจ เน้นกระตุ้นให้คนอยากกดเข้าไปดูหรือแชร์ไปด่า หากข้อความพาดหัวมีความหวือหวาจนเกินไป ที่ทำให้เรารู้สึกว่าไม่น่าเป็นไปได้ ข่าวนั้นอาจจะเป็นข่าวปลอม ให้ลองพิจรณาให้ดีว่า ข่าวที่เรากำลังจะแชร์นั้น เราอยากแชร์ไปเพื่ออะไร

3. สังเกตชื่อ Link และ URL จะผิดแปลก จงใจเลียนแบบให้เข้าใจผิด
ลิงก์ของข่าวที่แชร์มาอาจจะมี URL คล้ายกับ URL ของสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือ โดยมีเว็บไซต์ข่าวปลอมจำนวนมากที่เปลี่ยนแปลง URL เพียงเล็กน้อยเพื่อเลียนแบบแหล่งข่าวจริง ต้องเข้าไปอ่านเนื้อหาและชื่อให้แน่ชัด

4. รูปภาพประกอบไม่ตรงกับเนื้อหาข่าว
เป็นวิธีตรวจสอบที่ง่ายๆ ด้วยสมมติฐานที่ว่า เมื่อเนื้อหาข่าวมันปลอม รูปภาพประกอบข่าวก็ต้องปลอมและไม่ตรงกับเรื่องจริงในข่าวเช่นเดียวกัน เราสามารถตรวจที่มาของ "รูปภาพประกอบ" ได้จาก Google เพียงคลิกขวาที่รูปภาพในข่าว จะมีหัวข้อให้เลือกว่าค้นหารูปภาพจาก Google ซึ่ง Google จะบอกได้หมดว่ารูปภาพนี้เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ตเมื่อไหร่ และถึงบางครั้งรูปภาพอาจเป็นรูปจริง แต่ไม่เกี่ยวข้องกับบริบทของเรื่องราว เพื่อความมั่นใจ ลองนำภาพไปตรวจสอบที่มาของภาพดังกล่าวผ่านการค้นหารูปแบบต่างๆ 

5. การเขียนและสะกดคำ "ผิด"
ผู้สื่อข่าวที่ดีหรือสำนักข่าวออนไลน์ที่มีตัวตนและมีคุณภาพจะไม่ผิดพลาดเรื่องตัวสะกดของคำหรือประโยคต่างๆ ด้วยเหตุผลที่ว่าจะมีการพิสูจย์อักษรก่อนการเผยแพร่ทุกครั้งเพื่อความถูกต้องและความไม่คลาดเคลื่อนของข้อความหรือสาร (Message) ที่จะส่งออกไป

6. ตรวจสอบจากแหล่งข่าวอื่นเปรียบเทียบ
สังเกตหรือตรวจสอบอีกครั้งจากแหล่งอื่นๆ หรือตรวจสอบแหล่งข้อมูลของผู้เขียนเพื่อยืนยันว่าถูกต้อง หากไม่มีหลักฐานหรือความน่าเชื่อถือของผู้เชี่ยวชาญที่ไม่มีชื่อเสียง อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม
ตรวจสอบข่าวจากรายงานข่าวของที่มาอื่นๆ หากไม่มีแหล่งที่มาอื่นที่รายงานเรื่องราวเดียวกัน อาจระบุได้ว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หากมีการรายงานข่าวโดยหลายแหล่งข่าวที่คุณเชื่อถือได้ มีแนวโน้มว่าข่าวดังกล่าวจะเป็นข่าวจริง

7. การจัดวางภาพและกราฟิก
สังเกตสิ่งผิดปกติในเนื้อหาข่าวหรือเว็บไซต์ เช่น วันที่ลำดับเหตุการณ์ การจัดวางภาพกราฟิก โดยข่าวปลอมอาจมีลำดับเหตุการณ์ที่ไม่สมเหตุผล หรือมีการเปลี่ยนแปลงวันที่ของเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นจริง รวมทั้งมีการจัดวางกราฟิกหรือเลย์เอาต์ที่ไม่เป็นมืออาชีพ ผิดไปจากเลย์เอาต์ของสำนักข่าวจริง 

8. มีโฆษณาสิ่งผิดกฎหมาย บนหน้าเว็บไซต์
สังเกตสิ่งผิดปกติในเนื้อหาข่าวหรือเว็บไซต์ เช่น เมื่อคลิกเข้าไปดูในเว็บไซต์อาจมีโฆษณาของสิ่งผิดกฎหมายปรากฏอยู่เต็มหน้าเว็บ

9. ดูจุดประสงค์ในการเผยแพร่ข่าว
ทำไมเราอยากแชร์? อ่านข่าวนี้แล้วเรารู้สึกอย่างไร ผู้เขียนต้องการอะไร หรือมีเป้าหมายยังไง เช่น ต้องการสร้างความตื่นตระหนก? หรือ ให้ข่าวทำลายชื่อเสียง หรือมีจุดประสงค์อื่นๆ แอบแฝงจากการให้ข่าวนี้ 


จากข้อสังเกตทั้งหมดที่เราแนะนำ วิธีเช็ค Fake News เบื้องต้น อาจจะบอกไม่ได้ 100% ว่าข่าวนั้นเป็นเรื่องจริงหรือไม่ แต่การที่เราอ่านข่าวบ่อยๆ หมั่นสังเกตความเคลื่อนไหวต่างๆ แล้วคิดวิเคราะห์ตาม ก็จะช่วยให้เรารู้เท่าทันข่าวปลอมหรือ Fake News ต่างๆ ได้ และที่สำคัญคือ หากเป็นเรื่องราวที่เราไม่แน่ใจ ไม่รู้และไม่สามารถตรวจสอบได้ว่าข่าวหรือเรื่องราวนั้นเป็นจริงหรือ สิ่งที่เราควรทำคือ ไม่แชร์ไม่ส่งต่อข่าวนั้นออกไป

ที่มา :
www.etda.or.th
marketeeronline.co
www.brighttv.co.th

 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด