หน้าแรก เรียนดิจิทัลมีเดีย ข่าว/บทความ

ดิจิทัลมีเดีย สื่อที่เข้ามาท้าทายวงการโฆษณา

วันที่เวลาโพส 04 เมษายน 61 17:14 น.
อ่านแล้ว 0
P' แพว AdmissionPremium
ดิจิทัลมีเดีย สื่อท้าทายวงการโฆษณา
ก่อนหน้านี้ทีวี วิทยุและหนังสือพิมพ์ จัดเป็น "สื่อหลัก" ในการถ่ายทอดข่าวสาร ข้อมูลและสร้างความบันเทิง ทั้งการโฆษณาและประชาสัมพันธ์ แต่เมื่อเข้าสู่ยุคเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ต การเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลาและรูปแบบของการถ่ายทอดข้อมูลทำได้อย่างน่าตื่นตาตื่นใจ "สื่อใหม่" ที่เข้ามาใกล้ชิดสังคมของคนทั่วโลกอย่าง "สื่อออนไลน์" หรือ ดิจิทัล มีเดีย กลายเป็นช่องทางสื่อสารกับผู้คนจำนวนมาก


อินเทอร์เน็ตได้เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคในการทำงาน
การค้นหาข้อมูลและข่าวสาร การสนทนา ตลอดจนการสั่งซื้อสินค้า นอกจากนี้ยังกลายเป็นแหล่งบันเทิงสำหรับคนทุกเพศทุกวัย สามารถเลือกรับฟังวิทยุ เพลง ชมภาพยนตร์และเล่นเกม นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์หลายแห่งที่สามารถเรียกดูรายการทีวีที่พลาดชมไปแล้วได้อีกครั้งผ่านทางอินเทอร์เน็ต หรือที่เรียกว่า “ทีวีออนไลน์” ได้ตามเว็บไซต์ที่ให้บริการต่างๆ เช่น เว็บไซต์ www.mangotv.tv หรือ http://tv2.truelife.com/tvonline

นับได้ว่าออนไลน์เป็นแหล่งบันเทิงที่สะดวกสบายของผู้บริโภคไปแล้ว ด้วยกระแสโซเชียล เน็ตเวิร์ค (Social Network) ที่กระหน่ำอย่างหนักมากว่า 1ปี ผ่านแพลตฟอร์มอย่าง FaceBook, Twitter หรือ YouTube  ทำให้นักการตลาดต่างหันมาเรียนรู้และใช้ช่องทางใหม่นี้มาสร้างชุมชนออนไลน์อย่างคึกคัก โดยแบรนด์ต่างๆ ได้เริ่มปรากฏตัวผ่านหน้า Brand Page ของเฟซบุ๊ค มีการพูดคุยเพื่อให้บริการข้อมูลและรับทราบความต้องการของผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น

เจ้าใหญ่ในวงการอย่าง FaceBook มีพัฒนาการของลูกเล่นให้ติดตามมากขึ้น ตั้งแต่ Game ซึ่งมีมากกว่า 500,000 เกม, Places, Shop และที่ใหม่ล่าสุด Messaging บริการใหม่ๆ เหล่านี้ก่อให้เกิดกระแสโซเชียลตั้งแต่ Social Gaming, Geo-Social, Social Commerce และ Social Discount ที่ช่วยสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำให้กับ FaceBook ทำให้เกิดโฆษณาลักษณะ In-Game Advertising ขึ้น

การใช้สื่อผ่านโซเชียลเน็ตเวิร์คจึงเป็นโจทย์ใหม่ที่นักการตลาดต้องมีความเข้าใจ วางกลยุทธ์อย่างรอบคอบ และทีมที่ดูแลต้องสามารถจัดการได้อย่างรวดเร็วและเป็นเสมือนตัวแทนของแบรนด์ได้ด้วย


มือถือสื่อติดตัวผู้บริโภค 
ด้านโทรศัพท์มือถือ ที่พัฒนาเป็นสมาร์ทโฟนได้เข้ามาเติมช่องว่างของการใช้โทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตเข้าด้วยกันจนผู้บริโภคแยกไม่ออก ไอโฟน (iPhone) สมาร์ทโฟนจากค่ายแอปเปิล  ได้นำไลฟ์สไตล์ผนวกเข้ากับความบันเทิงบรรจุใส่ร้านค้าออนไลน์อย่างไอทูนส์ (iTunes) จำหน่ายเพลง ภาพยนตร์ รายการทีวีวิทยุ และหนังสือ (iBook) ต่อสมาชิกกว่า 160 ล้านล็อกอิน และยังได้สร้างสิ่งบันเทิงใหม่ผ่านทางแอพพลิเคชั่น (App) ที่มาในรูปของ Game, e-Magazine, interactive eBook หรือข่าวจากสำนักข่าวต่างๆ ทั่วโลก โดยได้มีการดาวน์โหลดไฟล์ผ่านทางไอทูนส์สโตร์จำแนกเป็นเพลงไปแล้วกว่า 11,700 ล้านครั้ง รายการทีวีกว่า 450 ล้านครั้ง ภาพยนตร์กว่า 100 ล้านครั้ง และหนังสือกว่า 35 ล้านครั้ง แสดงให้เห็นการตอบรับที่ดีเยี่ยมของผู้บริโภคกับช่องทางออนไลน์นี้

เมื่อผู้บริโภคมีอุปกรณ์อยู่ในมือที่สามารถใช้เป็นช่องทางสื่อสารได้ เกิดเป็นการโฆษณาแบบใหม่ที่เชื่อมเอาผู้บริโภคเข้ากับตำแหน่งสถานที่ (Location-Based Advertising) ซึ่งรุกหนักโดยค่ายใหญ่ เช่น FaceBook Places, FourSquare, Google Mobile และ SCVNGR รวมถึงแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ที่จะตามมาอีกเร็วๆ นี้ เป็นโจทย์ใหม่ที่นักการตลาดต้องเข้าใจ พัฒนาหรือเลือกใช้ให้เหมาะสม


เว็บทีวีพลิกโฉมสื่อโทรทัศน์ 
ไม่นานมานี้ ยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลได้ช็อกวงการโฆษณาอีกครั้ง โดยการเปิดตัวบริการใหม่ที่เรียกว่า GoogleTV ร่วมกับ Sony และ Logitech เป็นการเชื่อมอินเทอร์เน็ตเข้ากับทีวี ทำให้ผู้ชมสามารถสวิตช์การใช้งานระหว่างอินเทอร์เน็ตและทีวีผ่านรีโมตหรือมือถือ เปิดตัวเลือกในการรับชมรายการทีวีผ่านเว็บไซต์ หรือชมภาพยนตร์ผ่านทางบริการเช่าภาพยนตร์ออนไลน์อย่าง NetFlix ซึ่งในอนาคตอันใกล้อาจสร้างปรากฏการณ์ที่ทำให้ผู้ชมไม่ต้องการแยกรายการจากสถานีโทรทัศน์ออกจากรายการทีวีผ่านทางอินเทอร์เน็ต

วันนี้ ดิจิทัลมีเดียได้กลายเป็น "สื่อใหม่" ท้าทายวงการโฆษณา และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตและมือถือได้เข้ามามีอิทธิพลต่อการใช้ชีวิตประจำของผู้บริโภคอย่างเลี่ยงเสียไม่ได้ ยิ่งไปกว่านั้น หากเส้นแบ่งของทีวีและอินเทอร์เน็ตเริ่มจางหายไป ผู้ชมไทยเลือกชมภาพยนตร์ที่แพร่ภาพทางอินเทอร์เน็ตบนทีวี ผู้ผลิตสื่อเองก็มีความพร้อมในการนำเสนอเนื้อหาผ่านทุกช่องทางอยู่แล้ว นักการตลาดจำเป็นต้องเข้าใจและเข้าถึงสังคมออนไลน์และดิจิทัลมีเดียให้ทันกับเหตุการณ์ เมื่อนั้น สื่อออนไลน์อาจเป็นตัวชี้ชะตาวงการโฆษณาในอนาคต


ข้อมูลจาก : www.home.co.th
 

คนอื่นๆอ่านเรื่องนี้ แล้วมักจะอ่านเรื่องต่อไปนี้ต่อ

หมวด